14-12-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 77 นิสสัน จับมือ กฟผ. ขานรับแนวคิดโรงไฟฟ้าเสมือน ทดสอบการจ่ายไฟฟ้าจากรถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้า

   จากการที่ประเทศไทยได้มีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 จึงต้องมีแนวทางการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในแนวทางสำคัญ คือ การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศ รวมทั้งมีการศึกษาระบบต่างๆ ให้สามารถใช้ประโยชน์รถ EV ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยล่าสุดได้มีโครงการนำร่องศึกษาแนวทางการจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรือ Vehicle-to-Grid (V2G) ขึ้นมาเป็นครั้งแรกของประเทศ รวมถึงการควบคุมระบบโดยศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งโครงการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบลู สวิตช์ (Blue Switch) โดยนิสสันได้ร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรพันธมิตรหลายแห่งในการศึกษาแนวทางที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆ มากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้สังคมไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีความยืดหยุ่นโดยอาศัยเทคโนโลยีพิเศษในรถยนต์นิสสันลีฟ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเป็นแค่ยานพาหนะ และยังจะสนับสนุนโครงการพัฒนาเชิงสังคม เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (ecotourism) และการบรรเทาภัยพิบัติในยามวิกฤต   

   ซึ่งภายใต้โครงการนี้ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ กฟผ. จะร่วมมือกันศึกษาการจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ของรถยนต์นิสสันลีฟ (Nissan LEAF) เข้าสู่ระบบไฟฟ้า เพื่อเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรอง โดยรถยนต์นิสสันลีฟเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% รองรับเทคโนโลยีการชาร์จไฟฟ้าแบบสองทิศทาง (Bi-directional Charging) คือ นอกจากชาร์จไฟฟ้าให้แก่รถยนต์ไฟฟ้า ยังสามารถจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. ผ่านเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบสองทิศทางสำหรับบ้านเครื่องแรกของโลก รุ่น Quasar จากแบรนด์ Wallbox ซึ่งเป็นผู้นำด้านเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงานสุดอัจฉริยะระดับโลกที่นำเข้าและให้บริการหลังการขายโดยบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัดเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

   อย่างไรก็ดี กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ได้เตรียมความพร้อมของระบบไฟฟ้าและการบริหารจัดการพลังงานรองรับการใช้รถ EV ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงรองรับเทคโนโลยีการจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้พัฒนาออกแบบระบบ EGAT V2G & VPP ซึ่งเป็นระบบควบคุมการสั่งจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ของรถอีวีหลาย ๆ คัน กลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าพร้อมกัน และส่งกำลังไฟฟ้าเสมือนนี้ให้ศูนย์ควบคุมการตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Response Control Center: DRCC) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กฟผ. ขานรับแนวคิดโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant หรือ VPP) รองรับการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเหลือจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้าในอนาคตเพื่อเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในโครงการพัฒนาแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565 – 2574  ภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ระยะที่ 2

   จากความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในครั้งนี้ จะเป็นการขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการศึกษาเทคโนโลยี V2G ที่เหมาะสมกับประเทศไทย รวมถึงการนำข้อมูลมาใช้จัดทำข้อกำหนดและระเบียบปฏิบัติให้สอดรับกับแนวทางการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคตต่อไป


   กลับมาพบกับสาระดีๆ ได้ใหม่ในตอนหน้า สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ