20-04-2558

วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม "โรคฮีทสโตรก"

ประเทศไทยเราเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดทุกปีนะคะ ทำให้เรามีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่มากับความร้อนหลายโรค เช่น โรคในระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป แต่โรคที่มีการพูดถึงกันน้อยทั้งที่มีคนเป็นบ่อยในช่วงหน้าร้อนคือ "โรคฮีทสโตรก" หรือ "โรคลมแดด" นะคะ โรคฮีทสโตรก เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ซึ่งจะมีอาการที่เบื้องต้น เช่น เมื่อยล้า อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ความดันต่ำ และยังอาจมีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อค และอาจทำให้อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้นะคะ โดยการสังเกตอาการของโรคฮีทสโตรก คือ ผู้ป่วยจะไม่มีเหงื่อออกทั้งๆที่ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆและรู้สึกกระหายน้ำมาก ซึ่งจะต่างจากการเพลียแดดทั่วๆไปที่จะพบว่ามีเหงื่อออกร่วมด้วยนะคะ ซึ่งเราสามารถป้องกันการเกิดฮีทสโตรก ได้ดังนี้ค่ะ ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนอย่างต่อเนื่องก็ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้ว่าเราจะไม่รู้สึกกระหายน้ำเลยก็ตามนะคะ และเมื่อเราพบเจอผู้เป็นโรคลมแดดก็สามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้โดย นำผู้มีอาการเข้าร่ม ให้ผู้ป่วยนอนราบ ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลงต่ำโดยเร็วที่สุดแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลนะคะ