26-05-2558

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ไม้ขัดหม้อ

หากเอ่ยถึงชื่อ ไม้ขัดหม้อ คนรุ่นแต่เก่าก่อนย่อมรู้จักดี โดยเฉพาะคนที่อยู่ในชนบท แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ หรือ เยาวชนในปัจจุบัน คงจะไม่เคยเห็นไม้ขัดหม้อ หรือ แม้แต่ชื่อก็อาจไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินมาก่อน  ที่เรียกว่า ไม้ขัดหม้อ หม้อในที่นี้คือ หม้อข้าว  ในสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้จึงยังไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าใช้กันอย่างเช่นทุกวันนี้ ดังนั้น เวลาหุงข้าวก็ต้องใช้หม้ออะลูมิเนียมใส่ข้าวใส่น้ำตั้งบนเตาไฟ พอข้าวจวนสุกได้ที่ก็จะต้องเทน้ำข้าวออกมา ตอนที่จะเทน้ำข้าว หรือ รินน้ำข้าว ซึ่งเราเรียกว่า เช็ด-น้ำข้าว ก็จะต้องใช้ไม้ที่ทำจากไม้ไผ่เกลาให้เรียบเป็นแผ่นยาวขนาด 1 ศอก สอดเข้าไปผ่านหูหม้อข้าวและฝาหม้อข้าว เพื่อขัดไม่ให้ฝาหม้อหลุดออกจากตัวหม้อแล้วจึงรินน้ำข้าวให้หมด

ไม้ขัดหม้อ นอกจากจะมีประโยชน์สำหรับแม่บ้านในการหุงข้าวแล้ว หากบ้านไหนลูกหลานดื้อ ซน หรือ เกเร ก็อาจจะถูกแม่ตีด้วยไม้ขัดหม้อก็มีมาแล้ว

พันทาง

ท่านผู้อ่านคงรู้จักสุนัขพันทางกันแล้ว  หลายคนก็นำมาล้อกันเล่นว่า สุนัขพันธุ์ Thousand way สุนัขพันทางหาดูได้ไม่ยาก พบเห็นได้ตามท้องถนน ตรอก ซอกซอย เป็นสุนัขที่เจ้าของไม่เลี้ยงแล้ว หรือที่เราเรียกว่า หมาจรจัด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสุนัขพันทางนี่เอง

คำว่า พันทาง ที่เรานำมาเรียกชื่อสุนัข ว่าสุนัขพันทางนั้น หลายคนยังเข้าใจว่า เป็นคำว่า พันธุ์ ที่แปลว่า พวกพ้อง เชื้อสาย หรือ เทือกเถา เหล่ากอ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดค่ะ

พันทาง แต่ดั้งเดิม เราใช้เรียกไก่ที่พ่อเป็น อู แม่เป็น แจ้ ว่าไก่พันทาง ภายหลังเรานำมาเรียกสัตว์อื่นที่พ่อแม่ต่างพันธุ์กัน จนถึงสิ่งต่างชนิดบางอย่างที่แกมกันหรือไม่เข้าชุดกัน เช่น สุนัขพันทาง เครื่องลายครามพันทาง เป็นต้น