27-11-2558

ภาษาไทยใช้ให้ถูก "เสน่ห์ปลายจวัก" ,"บูมเมอแรง" , "ซัง"

ภาษาไทยใช้ให้ถูก "เสน่ห์ปลายจวัก"

ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยินสำนวนไทยว่า เสน่ห์ปลายจวัก กันมาบ้างแล้ว คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนจะสั่งสอนลูกหลานที่เป็นหญิงให้ตระหนักถึงความสำคัญของ เสน่ห์ปลายจวัก เพื่อจะไว้ใช้มัดใจผู้ที่เป็นสามี
        เสน่ห์ปลายจวัก หมายถึงอะไร คนรุ่นก่อนรู้จักกันดีแทบไม่ต้องอธิบายขยายความ แต่คนรุ่นใหม่หรือเยาวชนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อนด้วยซ้ำ เสน่ห์ปลายจวัก คือ มีฝีมือปรุงอาหารโอชารส หรือทำอาหารอร่อยนั่นเอง  จวัก ก็คือ เครื่องใช้ตักข้าวหรือแกง
        สำนวนนี้ในสมัยก่อนมีความสำคัญมากทีเดียว แต่ในยุคปัจจุบันผู้หญิงต้องออกไปทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวเช่นเดียวกันกับผู้ชาย เวลาที่จะมาตระเตรียมอาหารหรือทำอาหารแทบจะไม่มี จึงมักซื้อมากินเสียมากกว่าที่จะทำเอง ผู้ชายสมัยนี้ก็ไม่ค่อยได้คาดหวังที่จะให้ผู้เป็นภรรยาทำอาหารให้กิน และไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องนี้สักเท่าไร คำว่า เสน่ห์ปลายจวักจึงไม่ค่อยได้ถูกนำมาใช้กับผู้หญิงในยุคสมัยนี้แล้ว คำนี้จึงอาจเลือนๆไปบ้างในสังคมยุคปัจจุบัน

ขอบคุณรูปภาพจาก http://goo.gl/OKR4gZ

ภาษาไทยใช้ให้ถูก "บูมเมอแรง"

ท่านผู้อ่านคงจะรู้จักเพลงของนักร้องชื่อดังซึ่งเป็นนักร้องยอดนิยมคนหนึ่ง มีชื่อเพลงว่า 
บูมเมอแรง เพลงนี้มีมานานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังมีคนจำได้ คำว่า บูมเมอแรง นี้เป็น อาวุธใช้ล่าสัตว์อย่างหนึ่งของชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย  เป็นไม้รูปโค้งเมื่อขว้างไปแล้วจะย้อนกลับมาที่เดิม ท่านผู้อ่านก็คงเคยเห็นกันมาบ้างแล้วจากในภาพยนตร์ นอกจากเป็นอาวุธแล้ว บูมเมอแรงยังใช้เป็นกีฬาได้อีกด้วย
        จากลักษณะของบูมเมอแรงที่ขว้างออกไปแล้วจะย้อนกลับมาที่เดิมนี้ จึงถูกนำมาเป็นภาษาปาก เปรียบเทียบการกระทำที่ทำแล้วจะย้อนกลับเข้าตัวเอง ว่าเป็นบูมเมอแรง เหมือนดังในเพลง
บูมเมอแรงที่ร้องว่า ก็เพราะตัวฉันเป็นดังบูมเมอแรง ขว้างไปยิ่งแรงยิ่งกลับมาเร็ว นั่นเอง

     

ขอบคุณรูปภาพจาก http://goo.gl/VD7NKh http://goo.gl/DrpS1Q http://goo.gl/sOSjLP

ภาษาไทยใช้ให้ถูก "ซัง"

ถ้าเอ่ยคำว่า ซัง หลายคนคงจะรู้จักกันบ้างแล้ว แต่บางคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ เด็ก หรือเยาวชนอาจไม่รู้จักว่า ซัง คืออะไร ซัง ก็คือ ส่วนที่เหลือจากของที่ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น ซังข้าว ซังข้าวโพด ซังขนุน แต่ซังของพืชแต่ละอย่างก็แตกต่างกันไป ดังนี้

ซังข้าว คือ ตอต้นข้าวที่เกี่ยวแล้ว หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็จะเหลือแต่ซังข้าวหรือตอต้นข้าวทิ้งให้แห้งในนา

ซังข้าวโพด คือ แกนของฝักข้าวโพด เมื่อเราแกะเมล็ดข้าวโพดออกหมดแล้วก็จะเหลือแกนที่ยึดติดเกาะเมล็ดข้าวโพด เราเรียกว่า ซังข้าวโพด

ซังขนุน ก็คือ ส่วนที่เป็นเส้นแบนบางหุ้มยวงขนุน หลายคนคงเคยเห็นพ่อค้าหรือแม่ค้าที่แกะขนุนขาย เวลาที่ผ่าผลขนุนออกเป็นสองซีก เราจะเห็นเนื้อขนุนสีเหลืองๆ หรือออกส้มอ่อนๆ และก็จะเห็นเส้นบางๆหุ้มยวงขนุนอยู่ นี่เองที่เรียกว่า ซังขนุน

คำว่า ซัง ยังนำไปประกอบกับคำอื่น เป็นคำที่มีความหมายใหม่ เช่น  ซังกะตาย ซังเต หรือ ซังกะบ๊วย  
ซังกะตาย คือ แค่นทำ  ฝืนใจทำ หรือ อย่างเสียไม่ได้ เช่น ถ้าซังกะตายแบบนี้ อย่าทำเสียดีกว่า เลิกเถอะ   
ซังเต เป็นภาษาปาก หมายถึง คุก ตะราง เช่น ได้ข่าวว่าหัวหน้าแก๊งซิ่งถูกจับเข้าซังเตไปแล้ว    ซังกะบ๊วย  คำนี้ก็เป็นภาษาปากเช่นกัน ซังกะบ๊วย  คือ แย่ เลว ไร้คุณภาพ  เช่น ของซังกะบ๊วยแบบนี้ซื้อมาให้เปลืองเงินทำไม