25-01-2559

วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม "โคมลอย ภัยบนฟ้า"

เทศกาลรื่นเริงต่างๆเป็นช่วงหนึ่งที่มีสถิติการเกิดอุบัติภัยสูง ทั้งภัยจากการจมน้ำ อันตรายจากดอกไม้ไฟ และอันตรายจากโคมลอย ซึ่งส่วนใหญ่ เกิดจากความประมาท ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ สูญเสียชีวิต และทรัพย์สินจำนวนมาก โดยเฉพาะการปล่อยโคมลอยที่ในอดีตเป็นที่นิยมเฉพาะในเทศกาลวันลอยกระทง แต่ในปัจจุบันกลับพบว่ามีการปล่อยโคมลอยในเกือบทุกเทศกาลงานรื่นเริง รวมไปถึงการดัดแปลงโคมลอยให้มีลักษณะใหญ่ขึ้น ลอยได้สูงขึ้นนั้น เพื่อความปลอดภัย สารคดีสั้นป้องกันสาธารณภัยจึงมีข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอันตรายจากโคมลอยในช่วงเทศกาลวันรื่นเรงต่างๆดังนี้ค่ะ การปล่อยโคมลอย ควรปล่อยในบริเวณที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งแจ้งห่างจากแหล่งชุมชน ไม่อยู่ใกล้แนวสายไฟ และไม่อยู่ในบริเวณโดยรอบสนามบิน เพื่อป้องกันเพลิงไหม้และก่อให้เกิดอันตรายต่ออากาศยานค่ะ โดยโคมลอยควรมีรูปแบบและขนาดที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ทำจากวัสดุธรรมชาติ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัย ซึ่งตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช.นั้น กำหนดให้โคมลอยใช้เชื้อเพลิงที่ทำจากกระดาษชำระชุบขี้ผึ้งอยู่ 3 ขนาด คือขนาดเล็กมีขนาดไม่เกิน 25 กรัม ขนาดกลางไม่เกิน 45 กรัม และขนาดใหญ่ไม่เกิน 55 กรัม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โคมนั้นลอยสูงเกินไป อีกทั้งวัสดุที่ใช้ทำโครงของโคมลอย จะทำด้วยไม้ไผ่และใช้ลวดผูกเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเส้นลวดจะต้องผูกด้วยเส้นด้ายเพื่อป้องกันไฟฟ้าช็อต ยามเมื่อโคมตกมาติดกับสายไฟฟ้าค่ะ อีกทั้งผู้จัดกิจกรรมการปล่อยโคมลอยควรต้องประสานท่าอากาศยาน และหอบังคับการบินในพื้นที่ เพื่อให้ข้อมูลวัน เวลา สถานที่ปล่อยโคมลอย พร้อมปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้ปล่อยในช่วงหลังเวลาเครื่องบิน ขึ้น – ลง เพื่อป้องกันอันตรายต่ออากาศยานที่อยู่ระหว่างการบินด้วยค่ะ