04-02-2559

ภาษาไทยใช้ให้ถูก "กอก" "กรอก" "กลอก"

ภาษาไทยใช้ให้ถูก  กอก กรอก กลอก
    การออกเสียงคำควบกล้ำไม่ถูกต้อง ย่อมส่งผลต่อการสื่อสารได้ คือทำให้ผู้ฟังเข้าใจความหมายผิดไปจากที่ผู้พูดต้องการจะบอกกล่าว เพราะคำแต่ละคำมีความหมายที่แตกต่างกันอยู่แล้ว อย่างเช่น คำว่า กรอก กลอก และ กอก ทั้งสามคำนี้มีความหมายแตกต่างกัน ถ้าออกเสียงผิดความหมายผิดตามไปด้วย 
    กรอก คำนี้เป็นคำกริยา คำวิเศษณ์ และคำนาม เมื่อเป็นคำกริยา หมายถึง เทลงในช่องแคบ เช่น กรอกหม้อ กรอกขวด หรือใช้โดยปริยายก็ได้ เช่น พูดกรอกหู  กรอก หมายถึง ลงข้อความหรือจำนวนเลข เช่น กรอกบัญชี กรอกตัวเลข  กรอก เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง แห้งจนคลอน ใช้แก่หมากและฝักมะขาม เช่น มะขามกรอกกินอร่อยดีนะ 
    กรอก เมื่อเป็นคำนาม หมายถึง ชื่อนกยางขนาดเล็ก เรียกว่า ยางกรอก ในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ ยางกรอกพันธุ์จีน ยางกรอกพันธุ์ชวา และ ยางกรอกพันธุ์อินเดีย

ยางกรอกพันธุ์ชวา  ยางกรอกพันธุ์จีน

กลอก เป็นคำกริยา หมายถึง เคลื่อนหรือขยับเขยื้อนกลับไปกลับมาภายในเขตของสิ่งนั้น ๆ เช่น กลอกตากลอกหน้า  ทำให้เคลื่อนวนกลับไปกลับมา เช่น กลอกแป้งขนมเบื้องญวน กลอกไข่  หรือ หมายถึง ทำให้มีอาการเช่นนั้น  เช่น กลอกน้ำร้อนในถ้วนเพื่อให้เย็น  กลอก เป็นคำนาม หมายถึง ลักษณะของเสียงที่บรรเลงเลื่อนไหลไปตามท่วงทำนองอย่างนุ่มนวลกลมกลืน เหมือนลักษณะของหยดน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบอน ในการขับร้องหมายถึงเสียงที่เปล่งออกจากลำคอพอสมควรสลับกับเสียงทางจมูก แล้วตวัดเสียงให้สะบัดวกวนกลับไปกลับมา 2 หรือ 3 ครั้ง สุดแต่ผู้ขับร้องจะเห็นเหมาะสม
    กอก เป็นคำกริยา หมายถึง ดูดเลือด หนอง หรือ ลมออกจากร่างกาย หรือ ดูดเอาน้ำนมออกจากเต้านม โดยใช้ถ้วย กระบอก ฯลฯ เป็นเครื่องดูด    

*ขอบคุณภาพจาก www.oknation.net