29-08-2559

เตือนช่วงมรสุมควรระมัดระวังในการเล่นน้ำทะเลเนื่องจากเสี่ยงการ ถูกพิษจากแมงกะพรุน

   นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ในพื้นที่ภาคใต้เป็นช่วงฤดูมรสุมและมักจะพบแมงกะพรุนถูกคลื่นซัดเข้ามาชายหาดจำนวนมากทั้งมีพิษและไม่มีพิษ โดยแมงกะพรุนที่พบทั่วไปในทะเลไทยมีหลายชนิด แต่ที่เป็นอันตรายและมีพิษรุนแรง คือ แมงกะพรุนกล่อง ซึ่งในประเทศไทยเคยพบผู้เสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่อง จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ปี 2542 - 2558 มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากแมงกะพรุนพิษมากกว่า 900 ราย พบอาการหนักจนถึงหมดสติ 18 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 8 ราย

   ทั้งนี้ พิษของแมงกะพรุนจะอยู่ที่หนวด ซึ่งมีเข็มพิษอยู่จำนวนมาก บางครั้งอาจจะไม่เห็นตัว แต่โดนแค่หนวดซึ่งหลุดออกมาก็สามารถถูกพิษได้ และถึงแม้แมงกะพรุนจะถูกคลื่นซัดขึ้นมาบนชายหาดเป็นเวลาหลายชั่วโมงแล้ว แต่เข็มพิษที่หนวดยังคงมีฤทธิ์อยู่ ดังนั้นจึงไม่ควรไปแตะต้องตัวหรือหนวดเด็ดขาด โดยพิษของแมงกะพรุนแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน บางชนิดมีความรุนแรงมากทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้น การป้องกันแมงกะพรุนพิษ ต้องใช้ความระมัดระวังในการเล่นน้ำทะเลช่วงฤดูฝนหรือหลังฝนตก เนื่องจากแมงกะพรุนจะออกมาผสมพันธ์และเจริญเติบโตเป็นจํานวนมาก รวมถึงสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด แขนยาว ขายาวแนบตัว ขณะลงเล่นน้ำทะเล ไม่ควรเล่นน้ำนอกตาข่ายในทะเล หากพบผู้สัมผัสแมงกะพรุนพิษ ให้รีบนำขึ้นจากน้ำ และทำการช่วยเหลือทันที โดยราดด้วยน้ำส้มสายชูอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 30 วินาที ห้ามใช้มือถูบริเวณที่ถูกต่อยสัมผัสแมงกะพรุน / ห้ามราดด้วยน้ำจืด และห้ามประคบด้วยความร้อนหรือน้ำแข็ง เพราะจะกระตุ้นให้เกิดการยิงพิษเพิ่มขึ้น และไม่ควรให้ผู้ป่วยขยับตัว เพื่อป้องกันการกระทบแผล ที่สำคัญ หากสัมผัสแมงกะพรุนแล้วมีอาการหายใจลำบาก / กลืนลำบาก / เจ็บหน้าอก / ปวดบริเวณที่ถูกสัมผัส / คัน บวมแดง ปวดผิวหนังอยู่ตลอดเวลา ต้องรีบไปพบแพทย์ ในกรณีที่หมดสติ ตัวเขียวให้โทรสายด่วน 1669 เรียกหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุดมาช่วยเหลือ และนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลทันที