22-02-2560

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ องค์การมหาชน บันทึกภาพดาวศุกร์ในคืนสว่างที่สุด ในรอบปีให้ได้ชมทางเว็บไซต์

   ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ องค์การมหาชน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ องค์การมหาชน หรือ สดร. ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามบันทึกภาพดาวศุกร์ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2560 เมื่อสังเกตการณ์จากกล้องโทรทรรศน์พบว่าดาวศุกร์มีลักษณะเป็นเสี้ยวบางลงเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งดาวศุกร์มีความสว่างที่สุดในรอบปี สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน เราได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร บันทึกภาพดาวศุกร์ในช่วงคลื่นต่างๆ กัน ได้แก่ ช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลต สังเกตเห็นเมฆกรดซัลฟิวริกเป็นส่วนสว่างๆ บนผิวดาวศุกร์ ถัดมาเป็นช่วงคลื่นอินฟราเรด จากภาพพื้นผิวดาวศุกร์มีความสม่ำเสมอมากแสดงให้เห็นว่าดาวศุกร์มีความร้อนสม่ำเสมอทั้งดวง และภาพสีเสมือน บันทึกในช่วงคลื่นสีแดง เขียว และอัลตราไวโอเลต ซึ่งใช้ช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลตแทนสีน้ำเงิน ทำให้เห็นเมฆชัดเจนขึ้น โดยสามารถชมภาพได้ที่เว็บไซต์ www.narit.or.th

   ทั้งนี้ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 2 ในระบบสุริยะ ถัดจากดาวพุธ และอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก เราจึงสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ด้วยตาเปล่าได้ง่ายเพราะดาวศุกร์มีความสว่างมาก นับเป็นวัตถุที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าไม่นับรวมดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และจะปรากฏอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับดาวพุธ เนื่องจากทั้งสองเป็นดาวเคราะห์วงในเหมือนกัน ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดได้ถึง 47.8 องศา จึงสามารถสังเกตดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น หากสังเกตเห็นดาวศุกร์ในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตกปรากฏทางทิศตะวันตก ชาวไทยมักเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หากสังเกตเห็นดาวศุกร์ในช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นปรากฏทางด้านตะวันออก มักเรียกว่า “ดาวประกายพรึก” อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าดาวศุกร์จะไม่เคยปรากฏให้เห็นอยู่กลางท้องฟ้า หรือปรากฏในเวลาดึก และในปีนี้ดาวศุกร์จะกลับมาปรากฏสว่างที่สุดอีกครั้งในวันที่ 30 เมษายน 2560 ช่วงรุ่งเช้าทางทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น