09-03-2560

เตรียมยกร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย ดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา

   นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.... จะมีการประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา หรือ สกศ.ร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... และขณะนี้ สกศ.เองได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยของหน่วยงานต่างๆ เพื่อที่จะยกร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย เนื่องจากในปัจจุบันมีแค่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2551 เป็นตัวกำหนดเรื่องการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย และเป็นตัวชี้วัดมาตรฐาน จำนวน 258 ข้อเท่านั้น ซึ่ง สกศ.ได้วางกรอบแนวคิดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องการศึกษาระดับปฐมวัยโดยเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่กำหนดรายละเอียดมาตรฐานต่างๆ

   ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดูแลเด็กปฐมวัยนั้น ได้วางกรอบว่าจะต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และจะต้องมีจุดแยกแบ่งความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น ระยะที่อยู่ในครรภ์บังคับว่าจะต้องพบแพทย์กี่ครั้ง และมีเงินสนับสนุนให้ผู้ปกครองเมื่อมาพบแพทย์ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่รับผิดชอบ ต่อมาเมื่อเด็ก เริ่มโตขึ้นและเข้ารับการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจะทำหน้าที่รับผิดชอบ เป็นต้น ส่วนเรื่องของเงินอุดหนุนรายหัวของเด็กนั้น มีแนวความคิดว่าจะต้องสนับสนุนแบบติดตัวเด็กตั้งแต่แรกเกิด เช่น เด็กคนหนึ่งมีเงินสนับสนุน 10,000 บาท ก็จะต้องใช้เงินจำนวนนี้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนถึงช่วงการศึกษาปฐมวัย ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เด็กสามารถเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งไหนก็ได้ และยังทำให้มีสิทธิในการบริหารจัดการเงินอีกด้วย ซึ่งระบบดังกล่าวยังสามารถติดตามตัวเด็กได้ด้วยว่าเด็กเข้าเรียนที่ไหน อย่างไร

   สำหรับประเด็นการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยจะต้องกำหนดการพัฒนาเด็กในด้านต่างๆ ให้เป็นไปอย่างสมวัยและรอบด้าน รวมถึงเรื่องการบริโภคอาหาร อาหารเสริม ต้องเป็นมาตรฐาน อีกทั้งจะต้องนำเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ เช่น สัดส่วนขนาดห้องเรียนต่อจำนวนเด็ก ต่อจำนวนครู กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ ในส่วนของครูจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า สถานศึกษาทุกแห่งที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัยจะต้องมีครูที่จบปฐมวัยโดยตรง เพื่อที่จะได้ครูที่ทำหน้าที่เป็นทั้งนักจิตวิทยา ครู เป็นผู้ดูแลเด็กในคนเดียวกัน

   อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอิสระที่จะเกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ดังนั้น หากเราวางรากฐานพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเต็มที่แล้ว การศึกษาในระดับต่อไปก็จะไม่มีปัญหา ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้แล้วเสร็จได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2560