06-07-2560

กรมสุขภาพจิตชี้พฤติกรรมความรุนแรง พบเร็วตั้งแต่วัยเด็ก ย้ำยังแก้ไขได้ทัน โดยการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว

   นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กและวัยรุ่นที่ปรากฏเป็นข่าวในสังคมอยู่บ่อยครั้ง ว่า โดยทั่วไปพฤติกรรมความรุนแรงจะมีความสัมพันธ์กับการเลี้ยงดูในวัยเด็ก โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยและวัยเรียน จากการเติบโตมาในลักษณะที่ขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว ถูกทำร้าย และถูกทอดทิ้ง ที่ทำให้เด็กสะสมความรุนแรงและแสดงออกกับสิ่งของ สัตว์เลี้ยง และเพื่อน พอกพูนจนเป็นวิถีชีวิต เข้าสู่กระบวนการของความรุนแรง และกลายเป็นอาชญากรได้ในที่สุด ซึ่งหากพบเห็นความผิดปกติทางพฤติกรรมเช่นนี้ ตั้งแต่วัยเด็กหรือช่วงวัยรุ่นนั้น ยังสามารถแก้ไขได้ทัน โดยแนวทางการแก้ปัญหาความรุนแรงในวัยเด็กที่ดีที่สุด คือ การเลี้ยงดูบุตรด้วยการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรัก คอยชี้แนะ สั่งสอน แนะนำ โดยเฉพาะเด็กในช่วงอายุระหว่าง 3-6 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ในการที่จะปลูกฝังและวางรากฐานทางคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็ก โดยเฉพาะศีล 5 ที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถปลูกฝังให้กับเด็กๆ ได้ หากเด็กมีปัญหาด้านสติปัญญา เลี้ยงยาก หรือสมาธิสั้นนั้น แนะนำให้มาพบจิตแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือน่าอายแต่อย่างใด ทั้งยังแสดงถึงความรัก ความเอาใจใส่ต่อบุตร และที่สำคัญสามารถช่วยป้องกันปัญหาความรุนแรง ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

   ทั้งนี้ ครอบครัวเป็นเหมือนต้นแบบในการใช้ชีวิตของเด็ก หากเด็กขาดบุคคลที่อบรม สั่งสอนอย่างเอาใจใส่ หรือขาดแบบอย่างที่ดีหรือความสัมพันธ์ในครอบครัวเปราะบาง ย่อมก่อให้เกิดปัญหาการใช้ความรุนแรงได้ในอนาคต

   ด้าน นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การป้องกันความรุนแรงกับเด็กและสตรีในครอบครัวจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เริ่มได้จากชุมชน ที่หากพบเห็นปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้น ในครอบครัวขออย่าเพิกเฉย ซึ่งเรามักพบว่า เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นแล้ว เพื่อนบ้านหรือคนรอบข้าง มักจะให้ข้อมูลว่าเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัวนั้นเป็นประจำ ซึ่งผู้พบเห็น สามารถแจ้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทำการแทรกแซงหรือให้การช่วยเหลือ เพื่อหยุดพฤติกรรม ที่เกิดขึ้นได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ที่บัญญัติขึ้น เพื่อให้ผู้กระทำความผิดมีโอกาสกลับตัว และยับยั้งการกระทำผิดซ้ำ รวมทั้งสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวไว้ได้ ประกอบกับ เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวก็มีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม