10-01-2561

สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ นำศาสตร์ดนตรีบำบัดฟื้นฟูร่างกาย จิตใจ แก่ผู้ป่วย คนพิการ

   นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ได้ให้บริการงานดนตรีบำบัด ที่เน้นการพัฒนารูปแบบฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยผสมผสานระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการแพทย์ เช่น กิจกรรมบำบัด / กายภาพบำบัด ร่วมกับการใช้ศาสตร์ทางด้านดนตรีบำบัด นำองค์ประกอบต่าง ๆ ตามหลักการของดนตรีบำบัดที่เป็นสากล ได้แก่ การร้อง การฟัง การเล่นเครื่องดนตรี และการเคลื่อนไหวร่างกายประกอบจังหวะ โดยมุ่งเน้นผลการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม การสื่อสาร การเรียนรู้ และการรับรู้ กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้รับบริการและคนพิการที่มีปัญหาทางด้านร่างกาย อารมณ์ และเด็กพิเศษ เช่น เด็กสมองพิการ / ออทิสติก เรียนรู้ช้า สมาธิสั้น โดยแบ่งผู้รับบริการเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้รับบริการแบบเดี่ยว จะเน้นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการฟื้นฟูของผู้รับบริการแต่ละบุคคล เช่น ฝึกทรงตัวทั้งในท่านั่งและยืนด้วยการโยกตัวตามจังหวะดนตรี เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อแขนและมือด้วยการเล่นเครื่องดนตรี การแต่งเพลงเพื่อผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาด้านการปรับพฤติกรรม การพูด และการสื่อสาร เป็นต้น การให้บริการแบบกลุ่ม ผู้รับบริการที่เป็นผู้ใหญ่ จะเน้นกระตุ้นการกลับเข้าสู่สังคม ผ่อนคลายความตึงเครียด ส่วนผู้รับบริการที่เป็นเด็ก จะเน้นแก้ไขปัญหาด้านความร่วมมือเพื่อฝึกควบคุมอารมณ์ พฤติกรรม และกระตุ้นทักษะทางด้านสังคม

   ด้านนายแพทย์ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ ทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้ความสำคัญกับการนำดนตรีบำบัดมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยและคนพิการ โดยศึกษารูปแบบดนตรีบำบัดที่เป็นสากลมาจัดทำแนวทางในการพัฒนาการให้บริการ ประสานความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัย

   ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาให้เป็นรูปแบบการใช้ดนตรีบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสมกับบริบท วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และผู้รับบริการในประเทศไทย โดยผู้ที่สนใจสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซค์ www.snmri.go.th