19-02-2561

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย

   ดร. ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. โดยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค ร่วมกับ มหาวิทยาลัย ราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมมือกันในการสร้างและขยายโอกาสให้กับนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้มีความรู้ ทักษะด้านการสร้างนวัตกรรมด้วยซอฟต์แวร์ โดยเสริมความรู้และทักษะ การสร้างนวัตกรรมด้วยซอฟต์แวร์ในการสอนแก่อาจารย์ เพิ่มขีดความสามารถและทักษะสำหรับ การประกอบอาชีพยุคใหม่ของนักศึกษา ซึ่งแนวโน้มโครงสร้างการทำงานในอนาคตจะเปลี่ยนไปทำงานร่วมกับเทคโนโลยีมากขึ้น เป็นการผสมผสานการใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีร่วมกับทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกระบวนการสร้างผลงานนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาดและผู้ใช้สินค้า จึงได้ดำเนินการ โครงการด้านการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ อย่างเป็นรูปธรรม

   รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการด้านการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ จะดำเนินการในระหว่างปี 2561 – 2563 ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านการสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ โดยซอฟต์แวร์พาร์คให้การปรึกษา แนะนำผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ให้นักศึกษาและคณาจารย์ ร่วมปฏิบัติงานจริงกับผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี /ส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีใหม่ ให้นักศึกษาและคณาจารย์ เข้ารับการฝึกอบรมทักษะด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) และ อินเทอร์เน็ต ออฟ ติงส์ (Internet of Things) และส่งเสริม สนับสนุนการวิจัย การบริการวิชาการ การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ชุมชน โดยซอฟต์แวร์พาร์คให้คำปรึกษา แนะนำผู้เชี่ยวชาญ วิทยากรที่ปรึกษาเพื่อการจัดกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ในกาถ่ายทอดกระบวนการคิด กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริการเชิงพาณิชย์

   ด้าน นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริหารซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าวว่า สวทช. โดยซอฟต์แวร์พาร์ค เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรมืออาชีพในอุตสาหกรรมมาเป็นเวลามากกว่า 15 ปี และได้พัฒนาบุคลากรไปแล้วกว่า 5 หมื่นคน เกิดเป็นองค์ความรู้ในการถ่ายทอดและรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี เร่งสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ จึงเกิดความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่คณาจารย์เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษา ให้ทันสมัยแบะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

   ทั้งนี้ โครงการด้านการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ เป็นการร่วมมือเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการสอนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ตอบสนองนโยบายรัฐบาล และสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี