28-03-2561

กระทรวงสาธารณสุข เตือนในช่วงหน้าร้อนควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน

   นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงหน้าร้อนปีนี้ ประเทศไทยมีอากาศร้อนจัด อาจทำให้เกิดโรคลมแดด หรือ Heat Stroke (ฮีทสโตรก) ซึ่งเป็นอาการที่เกิดเมื่อร่างกายไม่สามารถปรับตัวและควบคุมความร้อนภายในได้ มีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งระบบประสาท ส่งผลให้เสียชีวิตจากอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวได้ โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้ง่าย ได้แก่ ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย / กรรมกร / ก่อสร้าง / เกษตรกร / เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ / โรคหลอดเลือดสมอง / โรคความดันโลหิตสูง / ผุ้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน / ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

   ทั้งนี้ สถานการณ์ของโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก พบตั้งแต่ปี 2557–2559 มีรายงานผู้ป่วยประมาณ 2,500 – 3,000 รายต่อปี แนวโน้มเพิ่มขึ้น มีผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีกิจกรรมกลางแจ้ง อาชีพที่พบผู้ป่วยมากสุด คือ เกษตรกรรม / รับจ้าง / ทหาร ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 41 ปี ซึ่งเป็นวัยกลางคนและเป็นวัยทำงาน สำหรับอาการของผู้ที่เป็นลมแดด ได้แก่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ / ความดันโลหิตต่ำ / หัวใจเต้นเร็ว / หายใจเร็ว / เพ้อ / ชัก / มึนงง / หน้ามืด หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจหมดสติและเสียชีวิตได้ กรณีพบผู้มีอาการโรคลมแดด ขอให้รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียน ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น คลายชุดชั้นใน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น น้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก / รักแร้ / ขาหนีบร่วมกับใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ สำหรับวิธีป้องกันโรคลมแดด ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรดื่มน้ำชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำ