02-04-2561

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา มอบรางวัลการประกวดภาพยนตร์สั้น "พระอัจฉริยภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่วิถีการเรียนรู้"

   นางสาวปาริชาติ เย็นใจ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษา สำนักงาน กศน. กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัลการประกวดภาพยนตร์สั้นหรือสารคดี "พระอัจฉริยภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่วิถีการเรียนรู้" ตามโครงการมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชีวิตและสังคมตามพระอัจฉริยภาพสู่วิถีการเรียนรู้ ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา โดยกล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา สำนักงาน กศน. เป็นแหล่งวิทยาการเพื่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่จัดและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งส่งเสริมดิจิทัลชุมชนใน กศน.ตำบล มุ่งเพิ่มทักษะ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป และเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษา กศน. และประชาชนได้เรียนรู้ในเรื่องของสื่อ นวัตกรรมที่ทันสมัย และนำความรู้ที่ได้รับจากการเรียนรู้ในศูนย์ดิจิทัลชุมชนไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เมื่อช่วงต้นปีศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา จึงได้จัดการประกวดภาพยนตร์สั้น หรือสารคดี ในหัวข้อ "พระอัจฉริยภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่วิถีการเรียนรู้" ขึ้น ภายใต้โครงการมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชีวิตและสังคมตามพระอัจฉริยภาพสู่วิถีการเรียนรู้ เพื่อเชิดชูพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยอย่างยั่งยืนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สอดแทรกหลักการและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับพระอัจฉริยภาพที่ได้รับการสดุดีพระเกียรติคุณจากทั่วโลก ใน 5 ด้าน ได้แก่ พระอัจฉริยภาพด้านนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม / พระอัจฉริยภาพด้านผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา / กังหันน้ำชัยพัฒนา / พระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ / พระอัจฉริยภาพด้านผู้คิดค้นพลังงานทดแทน และพระอัจฉริยภาพด้านผู้ประดิษฐ์คิดค้นโครงการฝนหลวง

   ทั้งนี้ การจัดประกวดภาพยนตร์สั้นครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากนักศึกษาและประชาชนเป็นจำนวนมาก มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรวม 27 ทีม และผ่านเข้ารอบตัดสิน จำนวน 17 ทีม ซึ่งแต่ละทีมที่ผ่านรอบคัดเลือก เนื้อหาของภาพยนตร์สั้นหรือสารคดีต้องมีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับกรอบเรื่องที่ส่งเข้าประกวด ใช้เทคนิคในการเรียบเรียบและการถ่ายทอดที่สมบูรณ์ มีคุณภาพในการผลิต ทั้งในเรื่องของภาพ เสียง และการตัดต่อ และที่สำคัญต้องมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย ในโอกาสนี้ สำนักงาน กศน.ต้องชื่นชมผู้จัดการประกวดสร้างสรรค์งาน รวมถึงแสดงความยินดีกับผู้ได้รับการคัดเลือกจากการประกวดทุกรางวัลที่ทำงานด้วยความตั้งใจ ทำให้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมสำคัญอีกกิจกรรมหนึ่งที่ทรงคุณค่าสามารถสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจแก่ปวงชนชาวไทยในเรื่องพระอัจฉริยภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่วิถีการเรียนรู้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น