15-06-2561

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เผย นายกรัฐมนตรีชม ทีแคสเป็นระบบที่ดี

   ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำถึงเรื่องการปฏิรูปการศึกษา และให้พิจารณาถึงประโยชน์และความคุ้มค่าของการสอบคัดเลือกเด็กอนุบาล เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ การสอบภาษาอังกฤษในเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดถือว่าถูกต้อง การจัดการศึกษาทั้งระบบจะต้องสอดคล้องกัน แต่ที่ผ่านมาการศึกษาของบ้านเรายังมาไม่ถูกทาง ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการต้องกลับมาคิดว่า หลักการของการศึกษาจริงๆ คืออะไร และอนาคตการเรียนการสอนจะต้องไม่เน้นวิชาการมากนัก แต่ควรเน้นทักษะและสมรรถนะ เพราะเนื้อหาวิชาการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งเรื่องของทักษะและสมรรถนะเป็นสิ่งที่ต้องบ่มเพาะมาตั้งแต่เด็ก สอนจากประสบการณ์จริง ชีวิตจริงไม่ใช่เรียนแต่ในห้องเรียน อีกปัญหาที่สำคัญ คือ ครูส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหลักคิดที่ถูกต้องของความเป็นครู ดังนั้น อาจจะต้องมีการปรับทัศนคติของครูทั้งประเทศ ว่า อนาคตการเรียนในห้องเรียนต้อง ลดลง กระทรวงศึกษาธิการต้องปรับบทบาทว่ากระทรวงฯ ไม่ได้เป็นเจ้าของการจัดการศึกษา แต่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ตั้งแต่รัฐบาลที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ท้องถิ่นต้องจัดสรรงบฯ สนับสนุน ภาคประชาชนต้องมี ส่วนร่วมในการดูแลโรงเรียน และมหาวิทยาลัยท้องถิ่นต้องเป็นพี่เลี้ยงดูแลโรงเรียน

   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส นั้น นายกรัฐมนตรีชื่นชมว่าเป็นระบบที่มีหลักการดีสามารถแก้ปัญหาให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนจบหลักสูตร ลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ซึ่งลดค่าใช้จ่ายได้มหาศาล ที่สำคัญการไม่ให้มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงเองเป็นการลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เปิดคะแนนให้เด็กได้เห็น ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องระบบแต่เป็นความผิดพลาดที่ไม่ถึงร้อยละ 10 และที่เป็นปัญหาใหญ่ก็เพราะเกิดจากการสื่อสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้เรื่องต่างๆ กระจายไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ยืนยันว่า ทีแคสเป็นระบบที่ดี แก้ปัญหาทั้งระบบเอ็นทรานซ์ และแอดมิชชันเดิมได้ แต่เมื่อเกิดข้อผิดพลาดแล้ว ทปอ. จะต้องไปปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น ซึ่งได้มีข้อเสนอเบื้องต้นว่า ต้องแยกกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท. ออกมา เนื่องจากทำให้เกิดปัญหาการกั๊กที่นั่งและปรับให้แจ้งคะแนนเฉพาะตัวเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาร้องเรียน รวมถึงจะต้องกระชับเวลาการรับสมัครแต่ละรอบให้สั้นลง โดยทั้ง 5 รอบไม่ ควรเกิน 2 เดือน