03-08-2561

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เผย บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวขยาย ฟู้ดอินโนโพลิส 7 แห่ง

   ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ “บอร์ดบีโอไอ” ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้ขยายเครือข่าย ฟู้ดอินโนโพลิส หรือ เมืองนวัตกรรมอาหาร อีก 7 แห่ง นอกเหนือจากโครงการที่ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบด้านการเกษตรด้วยการวิจัยและพัฒนาในทั่วทุกภาคของประเทศ และเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก ตลอดจนเป็นการสนับสนุนโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. อีกทางหนึ่งด้วย โดยกิจการเป้าหมาย อาทิ การวิจัยพัฒนาด้านเกษตรอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ การปรับปรุงพันธุ์ และบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ที่จะเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองนวัตกรรมอาหารทั้ง 8 แห่ง คือ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจากบีโอไอในการยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคล อย่างน้อย 5 - 10 ปี ตามหลักเกณฑ์พื้นฐานของแต่ละประเภทกิจการแล้ว ยังจะได้รับสิทธิเพิ่มเติมเป็นพิเศษ เช่น การลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี หรือเพิ่มจำนวนปีการยกเว้นภาษีเงินได้อีกด้วยนั้น

   ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน.เปิดเผยว่า การขยายเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหารเพิ่มขึ้นอีก 7 แห่ง ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีที่ช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย มากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากความสำเร็จในการขยายเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหารแล้ว สวทน. ในฐานะหน่วยงานจัดทำนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ยังเดินหน้าจัดทำนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการตั้งแต่การทำยุทธศาสตร์ การริเริ่มทดลองนำร่องนโยบาย ตลอดจนการขยายผลนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมดังเช่น โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร และโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ที่ได้ร่วมกับทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. พัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรให้กับเยาวชนไทยใน 150 โรงเรียนทั่วประเทศ

   นอกจากนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างเทคนิคทักษะสูง วิศวกร นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ สวทน. มีนโยบายในการขยายผลโครงการที่ประสบความสำเร็จจากการนำร่องร่วมกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัยและหน่วยงานพันธมิตร อาทิ “โครงการ Talent Mobility” ซึ่งส่งเสริมให้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนการทำวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน โดยปัจจุบันมีนักวิจัยเข้าร่วมโครงการและออกไปปฏิบัติงานร่วมกับภาคเอกชนแล้วกว่า 1,260 คน พัฒนากำลังคนทางเทคนิคคุณภาพสูง ในระดับ ปวส. โดยร่วมกับภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการจัดให้มีการเรียนการสอนในรูปแบบ “โรงเรียนในโรงงาน” ซึ่งนักศึกษาจะได้ทำงานจริงตลอดหลักสูตรซึ่งได้รับการออกแบบการเรียนการสอนทางทฤษฎีและปฏิบัติให้สอดรับกันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน /โครงการ สนับสนุนภาคเอกชนที่ต้องการทำวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการนวัตกรรม โดยสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ และนักศึกษาระดับปริญญาโท เข้าไปร่วมดำเนินงานในบริษัทตลอดขั้นตอนการทำนวัตกรรม ตั้งแต่การวิเคราะห์ตลาด การออกแบบสินค้าและบริการ จนถึงการผลิต โดยเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ สามารถนำค่าใช้จ่ายจากโครงการมาขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือสิทธิประโยชน์การลงทุนจากบีโอไอได้ด้วยเช่นกัน

   อย่างไรก็ตาม สวทน. ยังมีนโยบายที่เป็นข้อริเริ่มใหม่ด้านการบริหารยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ชื่อแผนงาน Spearhead (สเปียร์เฮด) ด้านเศรษฐกิจ ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับในปีงบประมาณ 2562 แผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินการ 800 ล้านบาท สำหรับ 5 กลุ่มเรื่องประกอบด้วย กลุ่มอาหาร เกษตร เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์ /กลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัลและข้อมูล /กลุ่มระบบโลจิสติกส์ / กลุ่มการบริการมูลค่าสูง/ และกลุ่มพลังงาน โดยที่แผนงานดังกล่าวล้วนเป็นแผนงานที่มีความพร้อมในการดำเนินการสูง และมีศักยภาพที่จะสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คาดว่า จะสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 10,000 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2,000 ล้านบาท ลดการนำเข้า 1,000 ล้านบาทต่อปี และสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้มากกว่า 5,000 ครัวเรือน ขณะนี้ สวทน. กำลังเตรียมการสำหรับการดำเนินการจริง ร่วมกับหน่วยงานบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) โดยจะให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการทั้งด้านการลงทุนร่วมในลักษณะของ in-cash และ in-kind ตลอดจนด้านการบริหารจัดการแผนงาน ทั้งนี้ สวทน. จะเริ่มทดลองดำเนินการจริงอย่างเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคม 2561 และจะขยายผลได้อย่างเต็มที่ต่อไปในเร็วๆ นี้