27-09-2561

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง วิจัย “สารบีเทพ” (BeThEPS)

   ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่รับฟังเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดน่าน ที่ได้รับการถ่ายทอดผลงานวิจัย “สารบีเทพ” BeThEPS ช่วยยืดอายุน้ำยางสดไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ว่า เนื่องจากน้ำยางสดที่กรีดจากต้นยางพาราจะคงสภาพเป็นน้ำยางอยู่ได้ในระยะเวลาอันสั้นเพียง 6-8 ชั่วโมงเท่านั้น โดยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี และปริมาณแบคทีเรียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อนุภาคยางจับตัวเป็นก้อนและมีกลิ่นเหม็น เกิดปัญหาน้ำยางสดเสียสภาพก่อนการแปรรูปเป็นยางแผ่น ทั้งนี้เกษตรกรมักแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้แอมโมเนียและโซเดียมซัลไฟต์เพื่อช่วยยืดอายุน้ำยางสด แต่แอมโมเนียระเหยง่าย มีกลิ่นฉุน เป็นพิษต่อผู้ปฏิบัติงานและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนโซเดียมซัลไฟต์ทำให้เกิดฟองในแผ่นยาง ส่งผลต่อคุณภาพของยางแผ่น ทำให้ยางแผ่นมีราคาถูกลง

   หน่วยวิจัยยางของเอ็มเทคจึงได้พัฒนา สารยืดอายุน้ำยางสดเพื่อการผลิตยางแผ่น หรือ “สารบีเทพ” BeThEPS ขึ้น เพื่อช่วยยืดอายุน้ำยางสดได้นานกว่าเดิม 1-3 วัน ทำให้แผ่นยางจับตัวรีดง่าย เกิดลายดอกชัดเจน เพิ่มปริมาณยางแผ่นรมควันคุณภาพดี ลดปริมาณยางตกเกรด ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มราว 900 บาท ต่อการผลิตยางแผ่น 1 ตัน นอกจากนี้ยังทดแทนการใช้สารเคมีทั้งแอมโมเนียและโซเดียมซัลไฟต์ และช่วยประหยัด ค่าเชื้อเพลิง เนื่องจากยืดอายุน้ำยางสดยาวนานขึ้นจึงช่วยลดความถี่ในการขนส่ง ทำให้เกษตรกรมีเวลามากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

   ด้าน นางสาวธนพร โตพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มแปรรูปน้ำยางสด อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ในฐานะเกษตรกร ผู้ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี สารยืดอายุน้ำยางสดเพื่อการผลิตยางแผ่น หรือ “สารบีเทพ” BeThEPS กล่าวว่า เนื่องจากสภาพพื้นที่ปลูกยางในจังหวัดน่านส่วนใหญ่เป็นภูเขาและอยู่ห่างจากจุดรับซื้อน้ำยางสดหลายกิโลเมตร ทำให้น้ำยางสดเสื่อมสภาพก่อนถึงจุดรับซื้อน้ำยาง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตของเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่อย่างมาก ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดน่านจะใช้แอมโนเนีย ซึ่งมีกลิ่นฉุนและเป็นพิษกับเกษตรกร ผสมในน้ำยางสดเพื่อยืดอายุน้ำยางก่อนนำส่งจุดรับซื้อ แต่จะช่วยยืดอายุได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมงเพราะแอมโมเนียระเหยง่าย ทำให้ชาวสวนยางต้องเพิ่มความถี่ในการขนส่งน้ำยางสดวันละหลายรอบ ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น อีกทั้งเมื่อนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน น้ำยางสดที่ผสมโซเดียมซัลไฟต์ (ยากันกรอก) จะเกิดฟองในแผ่นยาง ทำให้ยางแผ่นขาดง่าย ไม่มีความยืดหยุ่น และขายไม่ได้ราคา กระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมา ได้รู้จักกับทีมวิจัยของเอ็มเทค สวทช. และได้รับการถ่ายทอดการใช้ “สารบีเทพ” BeThEPS เพื่อยืดอายุน้ำยางสด โดยนำมาให้เกษตรกรได้ทดลองใช้ในหลายอำเภอ ได้แก่ อำเภอเวียงสา อำเภอท่าวังผา อำเภอเชียงกลาง อำเภอแม่จริม และ อำเภอสันติสุข คิดเป็นพื้นปลูกยางที่ใช้สารเทพประมาณ 3,700 ไร่ ซึ่งการใช้ “สารบีเทพ” BeThEPS สามารถทดแทนแอมโมเนียได้ผลดีเยี่ยม ยืดอายุน้ำยางสดได้นาน 1-3 วัน ช่วยลดความถี่ในการขนส่งน้ำยางสดและลดต้นทุนจากค่าขนส่งได้อย่างมาก เกษตรกรมีรายกำไรจากการกรีดยางได้มากขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีเนื่องจากมีเวลามากขึ้น ปัจจุบันกลุ่มแปรรูปน้ำยางสดจังหวัดน่าน มีรายได้เพิ่ม 300 บาทต่อวัน หลังจากใช้“สารบีเทพ” BeThEPS เนื่องจากในกระบวนการผลิตการสูญเสียยางลดน้อยลง สามารถผลิตยางแผ่นรมควันได้เฉลี่ย 70 ตันต่อเดือน จากเกษตรกรกว่า 200 ราย ที่ส่งน้ำยางสดประมาณ 240 ตันต่อเดือน นอกจากนั้นแล้วการใช้งานวิจัย “สารบีเทพ” BeThEPS จากเอ็มเทค สวทช. ยังช่วยเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดน่านลดต้นทุนการขนส่งจากเดิมมากกว่าเท่าตัว ลดค่าแรงงานคน สร้างรายได้ในฤดูกาลกรีดยางเฉลี่ย 216,000 บาทต่อครัวเรือน ที่สำคัญคือช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจากการลดใช้แอมโมเนีย ทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรอีกด้วย