19-11-2561

สำนักงานประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทน ขยายกลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุมลูกจ้าง

   พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน ฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และปัจจุบันได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 9 ธันวาคม 2561พระราชบัญญัติเงินทดแทน ฉบับนี้ถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ประกันตนทุกคนที่จะได้รับการคุ้มครองกรณีเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต เนื่องจากการทำงาน จากเดิมคุ้มครองเฉพาะผู้ประกัน มาตรา 33 ที่ทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนทั่วไป แต่ พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้จะขยายการดูแลไปยังกลุ่มใหม่ 3 กลุ่ม ได้แก่ ลูกจ้างในส่วนราชการ / พนักงานราชการ ลูกจ้างในกิจการที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่น สมาคม / มูลนิธิ และลูกจ้างขององค์การระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ ครอบคลุมลูกจ้างทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ให้ได้รับสิทธิการคุ้มครองจากการทุนเงินทดแทนของประกันสังคม ส่วนนายจ้าง/สถานประกอบการที่ปกติส่งเงินเข้ากองทุนเงินทดแทน ลูกจ้างก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้น และนายจ้างก็จะได้ปรับลดเงินเพิ่มเหลือเพียงร้อยละ 2 ต่อเดือน จากเดิมต้องส่งร้อยละ 3 โดยเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินสมสมที่นายจ้างต้องจ่าย สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ พระราชบัญญัติฉบับใหม่ขยายความคุ้มครองเพิ่มมากขึ้น อาทิ กรณีเจ็บป่วยจากการทำงานจะเพิ่มค่ารักษาพยาบาล จากเดิมวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท เป็นไม่จำกัดตามที่รักษาจริง และเมื่อหยุดงานจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ตั้งแต่วันแรกที่หยุด จากเดิมต้องหยุด 3 วันขึ้นไป โดยอัตราค่าทดแทนจะเพิ่มขึ้น จากเดิมร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เมื่อลูกจ้างสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน จากเดิม 15 ปี เพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี หรือตลอดชีวิต และหากเสียชีวิต ทายาทจะได้รับค่าทำศพ จากเดิม 3 หมื่น 3 พันบาท เพิ่มเป็น 4 หมื่นบาท และเงินดูแลทายาทรายเดือน เป็นเวลา 10 ปี จากเดิมให้เพียง 8 ปี

   ด้านนายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รักษาราชการเลขาธิการประกันสังคม กล่าวว่า ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการของลูกจ้างทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว ไม่จะเป็นลูกจ้างในส่วนราชการ ลูกจ้างในกิจการที่ไม่แสวงหาผลกำไร และลูกจ้างขององค์การระหว่างประเทศ ไปติดต่อสำนักงานประกันสังคมทุกแห่ง ภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2561 - 7 มกราคม 2562 เพื่อลงทะเบียนเข้าระบบและจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทน เริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.2 ของเงินเดือน 2 หมื่นบาท โดยขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของงาน

   ทั้งนี้ นายจ้างต้องเป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนเพียงฝ่ายเดียว เฉลี่ยต้องจ่าย 480 บาทต่อลูกจ้าง 1 คนต่อปี และแม้ว่านายจ้างจะยังไม่จ่ายเงินเข้ากองทุน ลูกจ้างก็จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนตามปกติ โดยสำนักงานประกันสังคมจะเรียกเก็บจากนายจ้างย้อนหลังพร้อมอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม หากไม่มาดำเนินการจะมี โทษตามกฎหมาย