04-12-2561

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะ 7 วิธีปฏิบัติในการขับขี่และเดินทางในช่วงฤดูหนาวเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนน

   นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ ประเทศไทยมีสภาพอากาศเริ่มหนาวเย็นลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ตามภูเขา ยอดดอยทางภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ทำให้ประชาชนเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ทั้งเดินทางไปกับรถสาธารณะหรือ นำรถส่วนตัวไป จึงทำให้มีรถจำนวนมาก ประกอบกับในตอนเช้า มีอากาศเย็นและมีหมอกลงจัด ทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดี นักท่องเที่ยวจึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

   ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำ 7 วิธีปฏิบัติในการขับขี่ให้ปลอดภัย ดังนี้ เตรียมรถให้พร้อม ตรวจเช็คสัญญาณไฟเตือนต่างๆ เช่น ไฟหน้ารถ ไฟเลี้ยว ไฟท้ายรถ รวมถึงสภาพยาง /ผู้ขับขี้ควรศึกษาเส้นทางที่จะไปก่อนเดินทาง และต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ สำหรับการขับขี่ในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย เช่น ทางลาดชัน ทางโค้ง ทางแยก ทางแคบ /ขณะที่มีหมอกลงจัดปกคลุมถนน ให้เปิดไฟต่ำหรือไฟตัดหมอก ที่ทำให้มองเห็นเส้นทางได้ชัดเจน ไม่ควรเปิดไฟสูง เพราะจะทำให้ผู้ขับรถคันอื่นสายตาพร่ามัว และลดความเร็วลงเท่าที่สายตาของเราจะสามารถมองฝ่าหมอกไปได้ /ไม่ควรขับแซงหรือเปลี่ยนช่องทางการจราจรอย่างกะทันหัน หากต้องการเปลี่ยนช่องการจราจร ควรให้สัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้าในระยะไม่ต่ำกว่า 60 เมตร /ไม่ควรขับรถ คร่อมช่องทางการจราจรหรือขับชิดด้านใดด้านหนึ่งของถนนมากเกินไป ควรยึดแนวเส้นขอบถนนด้านซ้าย เป็นหลัก หรือจะดูแนวเส้นกึ่งกลางถนนแล้วเยื้องไปทางซ้ายแทนก็ได้ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุเฉี่ยวชน /สำหรับกรณีเกิดฝ้าเกาะกระจก ให้เปิดปุ่มไล่ฝ้าหรือเพิ่มความเย็นของเครื่องปรับอากาศ และปรับกระจกลงเล็กน้อย เพื่อให้มองเห็นเส้นทางได้ชัดเจนมากขึ้น และหากทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ดี หรือสภาพถนนจะลื่นกว่าปกติ ควรจอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย เช่นสถานีบริการน้ำมัน ที่พักรถริมทาง รอจนกว่าทัศนวิสัยจะดีขึ้น จึงค่อยขับรถต่อไป /กรณีที่รถเสียควรหาจุดจอดรถที่ปลอดภัย โดยจอดรถชิดริมขอบทางให้มากที่สุด เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน และนำป้ายเตือนหรือวัสดุอื่นๆ ที่สะท้อนแสงมาวางไว้ด้านหลังรถ ให้ห่างจากจุดที่จอดรถในระยะไม่น้อยกว่า 50 เมตร เพื่อให้ผู้ขับขี่รายอื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจน หากพบเห็นอุบัติเหตุควรรีบ โทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ สายด่วน 1669 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค สายด่วน 1422