21-02-2562

ประเทศไทย เชื่อมยุทธศาสตร์แม่น้ำดานูบของประเทศฮังการีมาใช้กับลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นแบบแผนจัดการน้ำข้ามพรมแดน

   พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวว่า จากการเดินทางเยือนประเทศฮังการีตามที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลประเทศฮังการีอย่างเป็นทางการ เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านน้ำระหว่างกัน โดย 2 ประเทศจะนำไปสู่การพัฒนาจัดทำโครงการร่วม 5 เรื่อง คือ การบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนระหว่างลุ่มน้ำดานูบและลุ่มน้ำโขง /การบริหารจัดการตะกอนในลำน้ำ / การบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้ง / การจัดการน้ำเสีย การเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน และสุดท้ายการพัฒนาพื้นที่ชลประทาน โดยให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งช่าติ เป็นหน่วยงานกลางประสานกับฮังการีเพื่อจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจด้านน้ำระหว่างไทย-ฮังการีอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำและรูปแบบการพิจารณาผลกระทบข้ามลุ่มน้ำตรงกับแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ ด้านที่ 6 การบริหารจัดการ รวมถึงลุ่มน้ำระหว่างประเทศ ด้วยการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างประเทศด้านทรัพยากรน้ำเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการ เนื่องจากฮังการีเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของยุโรปตะวันออกที่มีชื่อเสียงด้านการอนุรักษ์น้ำ พลังงานหมุนเวียนจากน้ำเสีย วิศวกรรมน้ำ และการจัดการน้ำระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้หารือเพื่อขยายโอกาสด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันด้วย เนื่องจากไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ จึงเสนอให้ 2 ประเทศใช้ประโยชน์ของลักษณะกายภาพในที่ตั้งที่เหมาะสมของ 2 ประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางและเป็นประตูสู่ของอาเซียนและยุโรปในทุกด้าน

   ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำระหว่างประเทศ ว่า จากการหารือในระดับนโยบายกับฮังการีจะทำให้จัดการลุ่มน้ำระหว่างประเทศที่ฮังการีประสบความสำเร็จนำมาเป็นแบบแผนในการดำเนินการได้ โดยฮังการียังได้เชิญไทยเข้าร่วมงาน "Budapest Water Summit" (บูดาเปสต์ วอเทอร์ ซัมมิท) ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม2562 ซึ่งเป็นการประชุมระดับสูงเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันวิกฤตด้านน้ำที่มีการจัดแสดงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำโดยบริษัทชั้นนำของฮังการีและประเทศอื่นๆ ด้วย