17-06-2562

อพวช. ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ลงนามความร่วมมือในการจัดการแข่งขัน “Thailand CANSAT-ROCKET Competition 2019

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. กล่าวว่า อพวช. จัดการแข่งขัน “Cansat” หรือที่เรียกกันว่า “ดาวเทียมขนาดเล็ก” มาตั้งแต่ปี 2560 โดยทุกปีที่ผ่านมาเยาวชนผู้เข้าแข่งขันจะลงมือประดิษฐ์ Cansat เอง แล้วปล่อยลงมาจากโดรนเพื่อทำการเก็บข้อมูลตามภารกิจที่วางแผนไว้ สำหรับปีนี้ อพวช. ได้ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) หน่วยงานชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีจรวด และอาวุธนำวิถีของประเทศ เข้ามาเพิ่มทักษะการประดิษฐ์จรวดเชื้อเพลิงน้ำตาล เพื่อเป็นยานพาหนะนำส่ง Cansat ในการทำภารกิจเก็บข้อมูล โดยได้ลงนามความร่วมมือจัดการแข่งขัน “Thailand CANSAT-ROCKET Competition 2019” ขึ้น การแข่งขัน “Thailand CANSAT-ROCKET Competition 2019” เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนในระดับ ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า ส่งผลงานเข้าแข่งขัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีดาวเทียม มุ่งเน้นการปฏิบัติการจริง ตลอดจนเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยในด้านสะเต็มศึกษา ผ่านการสร้างและพัฒนา CanSat และจรวดเชื้อเพลิงน้ำตาล เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศ และเทคโนโลยีดาวเทียมได้โดยง่าย เพื่อนำไปสู่การอยากเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น อันจะทำให้เกิดการนำไปพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศต่อไป

   ด้านพลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในฐานะของหน่วยงานชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ได้มีโอกาสนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีจรวด และอาวุธนำวิถี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักและเทคโนโลยีแรกที่เป็นจุดกำเนิดของสถาบัน มาพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อใช้เทคโนโลยีจรวดส่ง CANSAT ขึ้นสู่อากาศ ที่ผ่านมาสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้แก่เยาวชนภายใต้โครงการค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องมา 8 ปี ได้รับความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทั้งส่วนกลาง และภูมิภาคต่างๆ การได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง อพวช. ในการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองหน่วยงานได้ต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้ของนักวิจัยและเยาวชนไทยสู่ระดับนานาชาติในอนาคต

   ขณะที่นาวาอากาศเอก ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ Cansat เพิ่มเติมว่า “CanSat หรือ “ดาวเทียมขนาดเล็ก” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้จำลองการทำงานของดาวเทียม โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศและการสื่อสารระยะไกล ทั้งนี้ กำหนดให้ดาวเทียมที่จะสร้างขึ้นมีขนาดเล็กเท่ากระป๋องน้ำอัดลม และไม่ได้ถูกปล่อยเข้าสู่วงโคจรในอวกาศจริง CanSat จะถูกส่งขึ้นสู่อากาศด้วยโดรนหรือจรวดขนาดเล็ก เมื่อถึงระยะสูงที่ต้องการ CanSat จะถูกปล่อยลงมาโดยกางร่มชูชีพเพื่อชะลอความเร็วในการร่วงหล่น ระหว่างที่ลอยอยู่ในอากาศ CanSat จะปฏิบัติภารกิจทางวิทยาศาสตร์ที่กำหนดไว้ และส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดิน ในการร่วมกิจกรรมนี้ เยาวชนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบและสร้างดาวเทียมขั้นพื้นฐาน โดยกำหนดภารกิจให้ดาวเทียมทำงานหรือเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ตามที่ตนได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ เซ็นเซอร์พื้นฐานที่ติดตั้งใน CanSat ซึ่งให้ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ อุณหภูมิ ความกดอากาศ และตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ (GPS) นอกจากนั้นก็ยังมีเซ็นเซอร์เฉพาะทางซึ่งตอบสนองภารกิจของแต่ละทีมตามที่ต้องการ”

   ทั้งนี้ การแข่งขันรอบคัดเลือกจะเริ่มต้นระหว่างวันที่ 27 - 29 กรกฏาคม 2562 ทีมชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาจาก อพวช. และ สทป. และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันนานาชาติ พร้อมได้รับทุนการศึกษาในคณะวิศกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สอบถามได้ที่ www.nsm.or.th/event/competition/cansat-thailand หมเลขโทรศัพท์ 0 2577 9999 ต่อ 1411 – 1416