15-07-2562

กรมการแพทย์ เตือน ผู้ปกครองเฝ้าระวัง โรคมือ เท้า ปากระบาดในเด็กช่วงฤดูฝน พร้อมแนะวิธีดูแลสุขอนามัยให้ห่างไกลการติดเชื้อ

   นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคมือ เท้า ปาก มักพบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบได้ประปรายในเด็กโต โดยเฉพาะเด็ก ที่อยู่รวมกันอย่างแออัด เช่น ในโรงเรียนอนุบาล / สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรคนี้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีและจะพบเพิ่มขึ้นในฤดูฝน

   ทั้งนี้หลังจากเด็กได้รับเชื้อ 3 - 6 วัน จะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วันจะมีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้และไม่ยอมรับประทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม มีตุ่มพองใสแดงที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้น / เข่าทั้งสองข้าง ผื่นมักจะไม่คันและหายเป็นปกติ ภายใน 7 – 10 วัน ซึ่งโรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการ โดยปกติมักไม่รุนแรงและหายได้เอง หากไม่มีอาการแทรกซ้อน ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมทานอาหารหรือดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย / หอบ / แขนขาอ่อนแรง / ชัก ควรรีบนำไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ / กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

   นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ปกครองสามารถดูแลสุขภาพของบุตรหลานได้โดย รักษาความสะอาดล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรือภายหลังการขับถ่าย หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้ง /หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และใช้ช้อนกลางรับประทานอาหาร / ตัดเล็บให้สั้น ป้องกันการเกา / ไม่ควรนำเด็กไปในสถานที่ที่แออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า / สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ / หากเด็กเป็นโรคนี้ไม่ควรไปโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็กเพื่อป้องกัน ไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น ทั้งนี้ต้องแจ้งทางโรงเรียนทราบ และควรรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหาย เป็นปกติ ที่สำคัญผู้ปกครองควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด