27-08-2562

กรมอนามัย แนะผู้เกษียณอายุราชการเตรียมความพร้อม 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการปรับตัวทางสังคมและจิตใจ

   แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเกษียณอายุเปรียบเสมือนกับการก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่งของชีวิตและถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้หลังจากนี้ ผู้เกษียณมีเวลาว่างมากขึ้น หลายคนอาจปรับตัวไม่ทันเพราะช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมาต้องพบปะเพื่อนร่วมงาน และมีงานหรือกิจกรรมที่ต้องทำทุกวัน อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจได้ ผู้เกษียณจึงต้องมีการเตรียมตัวหรือการวางแผน เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพพร้อมทั้ง 4 ด้าน คือ 1.ด้านสุขภาพอนามัย ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมง หากิจกรรมที่สร้างรายได้ กิจกรรมการกุศลที่เสริมคุณค่าให้ตนเอง กิจกรรมการออกกำลังกายหรือกายบริหารทุกวันอย่างน้อย สัปดาห์ละ 5 วัน ครั้งละ 30 นาที ไม่ควรออกกำลังกายที่หนักเกินไป โดยเฉพาะข้อเข่าเพราะจะทำให้เข่ารับน้ำหนักมากขึ้นจนเป็นสาเหตุของข้อเข่าเสื่อม ทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมองเพื่อลดการเสื่อมต่างๆ ของร่างกาย ตรวจสุขภาพร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และฝึกจิตและสมาธิ เพื่อให้รู้จักปล่อยวาง มองโลกในแง่ดี เป็นการพัฒนาทางอารมณ์เพื่อไม่ให้แปรปรวนง่าย ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย 2. ด้านการปรับตัวทางสังคมและจิตใจ ควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อให้ทันสมัย พูดคุยกับผู้อื่น รู้เรื่อง และอาจให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อลูกหลาน โดยเฉพาะลูกหลานและญาติควรให้ความสำคัญ กับผู้เกษียณอายุ ควรหาเวลาเพื่อพบปะหรือโทรศัพท์พูดคุย ซึ่งจะช่วยให้ผู้เกษียณไม่เหงาและเกิดภาวะซึมเศร้า 3.ด้านพฤติกรรมการออม ต้องออมทรัพย์สำรองไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณให้เพียงพอในแต่ละเดือน จะช่วยลดปัญหาและภาวะเครียดจากค่าใช้จ่ายที่ไม่พอใช้ได้ และ 4. ด้านที่อยู่อาศัย ต้องวางแผนว่าจะพักอาศัยอยู่กับใคร หรืออยู่ตามลำพัง โดยควรจัดบ้านและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม คำนึงถึงความปลอดภัยเพื่อลดอุบัติเหตุ และอันตรายต่างๆ เช่น ใช้วัสดุกันลื่นในห้องน้ำ มีราวจับ ใช้โถส้วมแบบนั่งราบ จัดบ้านให้โล่งและอากาศถ่ายเทได้สะดวก ดังนั้น ในช่วงวัยก่อนเกษียณจึงควรมีการเตรียมตัวหากลุ่มเพื่อน กลุ่มเครือข่ายต่างๆ ไว้ หรืออาจหากลุ่มสมาชิกผู้สูงอายุใกล้ๆ เพื่อจะได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ เสริมคุณค่าให้กับชีวิต และเป็นการส่งเสริมสุขภาพกาย จิตใจ และลดความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า เหงาและเครียด