10-10-2562

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี ส่งมอบ มุ้งฆ่ายุงนาโนช่วยผู้ประสบภัยในพื้นที่

   นายจำลอง พรมสวัสดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นหน่วยงานในการประสานงาน โดยได้นำผลงานวิจัยเข้าไปช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย ได้แก่ เครื่องกรองน้ำ จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ , ยากันยุง และมุ้งฆ่ายุงนาโนสมบัติพิเศษ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติใน 2 พื้นที่ได้แก่ โรงเรียนหาดสวนยาง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และวัดกุดกูล อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

   ด้าน ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ นาโนเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์หลักหนึ่งของ สวทช. คือ การนำเทคโนโลยีพร้อมใช้ไปถ่ายทอดให้กับชุมชน และผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านสังคมและสาธารณประโยชน์ นาโนเทคจึงพร้อมที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการ รวมทั้งบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดขึ้น การลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ นาโนเทคได้นำนวัตกรรม ที่เรียกว่า มุ้งฆ่ายุงนาโนสมบัติพิเศษจำนวน 480 หลัง เพื่อนำไปมอบให้กับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยมอบให้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้

   มุ้งฆ่ายุงนาโนสมบัติพิเศษ เป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาสูตรเคมีและกระบวนการเคลือบสิ่งทอสำหรับกำจัดแมลง โดย นาโนเทค สวทช. ที่เกิดจากการพัฒนา “เดลตา เม ธริน” สารสังเคราะห์เลียนแบบสารในกลุ่ม “ไพเร ธรอยด์” (Pyretroid) สารสกัดธรรมชาติจากดอกดาวเรืองและเก๊กฮวย ซึ่งเป็นสารที่ได้รับการแนะนำ ให้ใช้จากองค์การอนามัยโลก โดยสารสังเคราะห์ “เดลตา เม ธริน” (Deltamethrin) ถูกนำไปต่อยอด ในกระบวนการผลิตมุ้ง แบ่งเป็น 2 แบบ คือ เคลือบลงบนเส้นใยสำหรับมุ้งที่ผลิตขึ้นจากเส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใยฝ้าย และผสมสารชนิดนี้ลงในเม็ดพลาสติกเพื่อขึ้นรูปเป็นเส้นใย ซึ่งวิธีการหลังนั้นทำให้เก็บสารที่มีผลต่อการฆ่ายุงได้นานกว่าการนำมุ้งไปชุบ 5 เท่า

   กระบวนการทำงานของมุ้งฆ่ายุงนาโนสมบัติพิเศษ จะเริ่มเมื่อตัวรับที่ปลายขาของยุง ได้รับสาร เดลตา เม ธรินจากการชนหรือสัมผัสมุ้งทำให้ยุงบินช้าลงและตายในที่สุด ซึ่งยุงแต่ละชนิดมีความไว ต่อสารสังเคราะห์ชนิดนี้ได้ต่างกัน โดยเฉพาะยุงรำคาญและยุงก้นปล่อง ที่จะไวต่อสาร เดลตา เม ธริน มากที่สุด โดยจะตายภายใน 6 นาทีหลังจากได้รับสาร ที่สำคัญคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่มีตัวรับสารดังกล่าวจึงไม่ได้รับอันตรายเหมือนยุง ซึ่งนอกจากจะปกป้องผู้ใช้จากการถูกยุงกัดแล้ว ยังสามารถลดจำนวนประชากรของยุงได้อีกด้วย

   นอกจากนี้ ทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. ยังพัฒนาให้มีคุณสมบัติพิเศษร่วมอื่น ๆ อีกหลายชนิด ได้แก่ ป้องกันเชื้อแบคทีเรียทำให้ผลิตภัณฑ์ปราศจากกลิ่นอับชื้น ป้องกันรังสียูวีทำให้มุ้งและสารกำจัดยุงมีความทนทานต่อแสงแดด คุณสมบัติแบบผสมดังกล่าวเหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป หรือในช่วงที่มีอุทกภัย ซึ่งมีการแพร่ระบาดของยุงจำนวนมาก