16-10-2562

กระทรวงแรงงาน เปิดสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ฝึกคนทำงานกับหุ่นยนต์

   หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของสถาบันพัฒนา ฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี โดยเปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบกิจการหลายแห่ง ได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ แขนกล ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิตมากยิ่งขึ้น แรงงานจึงต้องปรับตัวและพัฒนาทักษะความรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด การจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จึงมีความสำคัญที่จะรองรับการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานให้เป็นแรงงานฝีมือชั้นสูงรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม โดยกลุ่มเป้าหมายมีทั้งแรงงานทั่วไป แรงงานในสถานประกอบการและนักศึกษา โดยมีแผนการขับเคลื่อนในการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับอีก 2 จังหวัด คือ ระยอง ฉะเชิงเทรา รวมถึงสมุทรปราการ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมการบริหารจัดการ ซึ่งสถาบันพัฒนาบุคลากร สาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จัดตั้งขึ้นเพื่อยกระดับคนทำงานให้เป็นช่างฝีมือชั้นสูงด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ EEC ระดับภูมิภาค และพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก รวมถึง เพิ่มผลิตภาพแรงงาน ลดต้นทุนสถานประกอบกิจการที่เปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรกลระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ในการผลิตทดแทนกำลังคน สนับสนุนการพัฒนากำลังคนรองรับด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่และอุตสาหกรรม 4.0 เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC เชื่อมั่นว่าสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จะสามารถพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมให้แรงงานมีศักยภาพ ตอบสนองความต้องการของนายจ้างและสถานประกอบกิจการ ที่นำเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาปรับใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมในอนาคต

  ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การดำเนินงานของสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จะยึดแนวทางประชารัฐ โดยร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา โดยในปี 2563 วางเป้าหมาย ที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานในสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จำนวน 2,000 คน ใน 42 หลักสูตร อาทิ ช่างควบคุมหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม การประยุกต์ใช้หน้าจอสัมผัสทางอุตสาหกรรม การเขียนโปรแกรมควบคุมระบบอัตโนมัติ เป็นต้น ซึ่งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จะกลายเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร พลาสติก แม่พิมพ์ ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบาย Workforce Transformation ของกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเดินหน้าปฏิรูปแรงงานให้มีฝีมือรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นวัตกรรม และสังคมในอนาคต