26-11-2562

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและกระทรวงศึกษาธิการเสนอตั้ง "คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู"

   ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับนายณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการพัฒนาครู ในศตวรรษที่ 21 ที่ ทำเนียบรัฐบาล ว่า ได้มีการหารือกันเกี่ยวกับปัญหาของครูในขณะนี้ พบว่า ครูขาดคุณภาพ ครูที่ผลิตไม่ตรงสาขา และครูมีจำนวนมากเกินตำแหน่งที่รองรับ ทั้งนี้การแก้ปัญหาครูต้องแก้ทั้งตัวของครูและสภาพแวดล้อม และควรเตรียมพร้อมรับมือกับครูจบใหม่ในปี 2565 ซึ่งจะมีครูที่จบจากหลักสูตร 4 ปี และ 5 ปี พร้อมกัน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้มีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาโดยให้มีการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู โดยต้องมีคนจากฝั่งผลิตครู และฝั่งใช้ครู เพื่อดูแลเรื่องการทำนโยบาย กำหนดทิศทาง วางมาตรฐานครู ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลการวิจัยเชิงระบบ และศูนย์กลาง ของความเป็นเลิศ ด้านการศึกษา พร้อมตั้ง สถาบันวิจัยระบบครุศึกษาและการศึกษา ทำการวิจัยเชิงระบบทั้งด้านการศึกษาและคุรุศาสตร์ เพื่อทำหลักฐานองค์ความรู้เชิงประจักษ์ในการเตรียมกำลังคน และเนื้อหารายวิชา จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ให้มีการตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านครุศึกษา เป็นการรวมกลุ่มของสถาบันผลิตครูหลักๆ ในรูปแบบสภาความร่วมมือ เน้นการผลิตครูของครู ปริญญาเอกและหลังปริญญาเอก และอาจจะกระจายเป็นกลุ่มตามแต่พื้นที่

   ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้น ให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งทีมทำงานเพื่อระบุและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ขณะเดียวกันที่ประชุมเห็นชอบกับการตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู โดยให้ปลัดทั้งสองกระทรวงรับหน้าที่ไปดำเนินการ โดยอาจให้มีดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หรือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีรัฐมนตรีจากทั้งสองกระทรวง ร่วมในคณะกรรมการ เพื่อดูรายละเอียดการผลิตและพัฒนาครูเป็นเขตพื้นที่การศึกษารวมทั้งมีการทำการวิจัยเชิงระบบ และพัฒนาครูของครู โดยเฉพาะ ทักษะและความสามารถที่ต้องมีของการผลิตครูร่วมกันและมองว่าการทำงานจะต้องมีพลวัต ต้องมีการปรับทักษะครู โดยเฉพาะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลและภาษาอังกฤษ

   ดร.สุวิทย์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขอให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมช่วยพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาครูเก่าร่วมด้วย อาจจะเป็นในรูปแบบหลักสูตรระยะ สั้นและปรับหลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียน โดยจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตรที่นิสิตนักศึกษาครูเรียนในมหาวิทยาลัย อีกทั้งจะต้องมีการรวมครูอาชีวะเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาครู เนื่องจากมีครูทางด้านนี้น้อยและเป็นสายที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมประเทศ นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการมีแผนจะของบกลางเพื่อรับนักศึกษาครูจบใหม่เข้ามาเพื่อพัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ /ดิจิทัล/และ ภาษาอังกฤษ สำหรับครูเก่ามีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้จริงทั้งหมดใน 3 ปี บางรายวิชา เช่น คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ควรจะมีการแบ่งการผลิตครูออกเป็นระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งทาง กระทรวงศึกษาธิการจะระบุรายวิชาแล้วนำมาหารือต่อไป