22-04-2563

ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. สรุปผลดำเนินโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี 2562

   นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ดำเนินโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (SUCCESS) เพื่อเป็นโครงการสำหรับผู้บริหารกิจการ เจ้าของธุรกิจเทคโนโลยี STARTUP ทั้งกิจการซอฟต์แวร์ ไอที เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีนาโน เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีอื่น ๆ โดยดำเนินโครงการมาแล้วถึง 17 รุ่น เหมาะสำหรับผู้ประกอบการเทคโนโลยี และ STARTUP ที่ต้องการสร้างรากฐานให้องค์กรธุรกิจ สามารถเติบโต และขยายฐานลูกค้าได้อย่างมั่นคง ด้วยกระบวนการเรียนรู้และบ่มเพาะ อาทิ การวินิจฉัยธุรกิจ การพบที่ปรึกษาด้านธุรกิจและอื่น ๆ การอบรมในหัวข้อเทคนิคการเจรจาต่อรอง เทคนิคการขาย การสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ การสร้างพันธมิตรภาครัฐและภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อความร่วมมือในการส่งเสริม การทำธุรกิจ การขยายตลาด เช่น การออกงานแสดงสินค้า การเข้าประกวดในเวทีต่าง ๆ และการเชื่อมโยงแหล่งสนับสนุนเงินทุนหรือร่วมลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

   โครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ปี 2562 หรือ SUCESSS 2019 สรุปผลมีสมาชิกรวม 41 บริษัท แบ่งเป็น สมาชิกใหม่ 25 บริษัท และสมาชิกรุ่นต่อเนื่อง 16 บริษัท โดยรูปแบบของธุรกิจผู้ประกอบการและ Startup ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการที่มีอยู่แล้วในรูปแบบออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการขายของมือสอง ขายอาหาร ตัดผม ซึ่งได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มเพื่อให้สะดวกต่อการให้บริการ และเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น เช่นมัมบี้ สตรีท ( Mombiestreet ) ตลาดขายของออนไลน์ แม่และเด็กมือสองแบรนด์ชั้นนำคุณภาพเยี่ยม, We Chef ( วี เชฟ ) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม We Chef Food Truck @ PT station สำหรับผู้ที่ต้องการจองพื้นที่จอดเพื่อขายอาหารในปั๊มน้ำมัน , Thonglor.co ( ทองหล่อ ดอทซีโอ) แพลตฟอร์มให้บริการตัดผมและเสริมความงามแบบครบวงจรถึงบ้านลูกค้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการนำนวัตกรรมและงานวิจัยมาเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า เช่น เพท ทาเนียร์ ( Petaneer ) นวัตกรรมทางการแพทย์สำหรับสัตว์เลี้ยง หรือ ซี เมด เมดิคัล ( Cmed Medical ) เจ้าของนวัตกรรมวีลแชร์ยืนได้และอุปกรณ์เครื่องยกย้ายผู้ป่วย เป็นต้น

   ทั้งนี้ กิจกรรมที่ทำการบ่มเพาะให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะมีความเข้มข้นเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การวินิจฉัยธุรกิจ การพบที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ การฝึกอบรมและเวิร์คช็อปที่จำเป็น และในปีนี้ ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นในการโค้ชชิ่งให้กับ Startup เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพบนักลงทุน ด้วยการให้คำปรึกษา แบบ 1 ต่อ 1 กับที่ปรึกษา เช่น การโค้ชชิ่งในหัวข้อที่มุ่งเน้นในเรื่องการทำ ไฟแนนเชียล โฟร์คาส (Financial Forecast ) การวางแผนการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การวางแผนกำลังคน การทำ Sale Plan การตั้ง เคพีไอ การคิดวิเคราะห์ต้นทุนและราคาขาย การคิดและจัดทำโปรโมชั่น ตลอดจนหัวข้ออื่น ๆ ที่เป็น Soft Skill และ ขาดไม่ได้สำหรับการเตรียมตัวพบนักลงทุน เช่น เทคนิคการเจรจา การเตรียมตัวเพื่อพบนักลงทุน นอกจากนี้ โครงการยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและบริษัทขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง เช่น บัวหลวง เวนเจอร์, บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด และรวมไปถึงการส่งมอบโอกาสให้ Startup ได้รับประสบการณ์การดำเนินธุรกิจจากพันธมิตรของ สวทช. ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกด้านอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมและ สมาร์ทโฟนอย่างบริษัท “หัวเว่ย” เป็นต้น อีกทั้ง ยังเสริมสร้างความตระหนักและพัฒนาทักษะการแข่งขัน, การส่งเสริมการสร้างรายได้ ขยายฐานลูกค้า และการออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ