26-06-2563

13 พันธมิตรจับมือเดินหน้าพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

   ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมเป็นพันธกิจหนึ่งที่สำคัญของ สวทช. โดยในปี 2564 ได้เสนอให้รัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการขยายผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โดยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน ขึ้นภายในเมืองนวัตกรรม ARIPOLIS ( อาริโพลิส) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองนวัตกรรมเป้าหมายภายใต้ EECi ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะในอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ BCG และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เป็นการช่วยลดช่องว่างของการพัฒนาอุตสาหกรรมและสามารถช่วยยกระดับการผลิตสู่ Industry 4.0 ได้ในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยี “แพลตฟอร์ม IDA” (Industrial IoT and Data Analytics Platform: IDA Platform) เป็นแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม ที่ช่วยติดตาม วิเคราะห์ข้อมูล และตรวจสอบประสิทธิภาพการผลิต การใช้พลังงาน รวมถึงค่าสภาวะต่าง ๆ ของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อช่วยปรับปรุงกระบวนการการผลิตให้มีศักยภาพและแม่นยำมากขึ้น

   ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สวทช. กล่าวว่า แพลตฟอร์ม IDA สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายงาน เช่น การตรวจวัดปริมาณการใช้พลังงานในโรงงาน เพื่อเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงาน / การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิต แก่โรงงานอุตสาหกรรม / และ การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต มีเป้าหมายในการขยายผลสู่ 500 โรงงานในระยะ 3 ปี ซึ่งในปี 2563 นี้จะมีการติดตั้งระบบในโรงงานอุตสาหกรรมนำร่อง จำนวน 10-20 โรงงาน โดยเป็นการร่วมทดสอบระบบและอุปกรณ์ที่ใช้ในแพลตฟอร์ม IDA เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเชื่อมต่อกันได้กับผู้ผลิตเทคโนโลยีชั้นนำจากต่างประเทศ

   ด้าน ดร.ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังมีบริษัทเอกชน ทั้งที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีรายใหญ่ในวงการอุตสาหกรรม 4.0 ของโลกและบริษัทเอกชนไทย รวมทั้งสิ้นจำนวน 8 บริษัท ร่วมทำงานเพื่อส่งมอบเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทย โดยแต่ละรายจะมีการสนับสนุนการทดลองใช้เทคโนโลยี/อุปกรณ์/ผลิตภัณฑ์ เพื่อทำการทดสอบการใช้งานจริงในโรงงานนำร่อง มีการแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ

   ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ IDA แพลตฟอร์มได้ โดยจะได้รับการประเมินความพร้อมในการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรมสมัยใหม่และการติดตั้งระบบมอนิเตอร์อัจฉริยะสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมโดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.nectec.or.th/innovation/ida