02-07-2563

เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตรวจความพร้อมของโรงเรียนก่อนเปิดเทอมในจังหวัดอุดรธานี

 

ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายพรชัย โพคันโย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 และหัวหน้าส่วนการศึกษาในจังหวัดอุดรธานี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมของโรงเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคCOVID-19 ก่อนวันเปิดภาคเรียนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ได้แก่ ณ โรงเรียนอนุบาลอุดรธานี โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล โรงเรียนอุดรพัฒนาการ และโรงเรียนบ้านเลี่ยมพิลึก พร้อมกล่าวว่า การตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการเปิดสถานศึกษาครั้งนี้ เพื่อดูให้เป็นไปตาม 6 มาตรการหลักของกระทรวงสาธารณสุข คือมาตรการคัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา / การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา / ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ / จัดให้มีการเว้นระยะห่าง / ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย และ ลดความแออัดไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน อีกทั้งได้ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน โรงอาหาร และติดตามการจัดทำอ่างล้างมือบริเวณหน้าโรงเรียนและในโรงเรียนตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี

   สำหรับ โรงเรียนอนุบาลอุดรธานีมีนักเรียนทั้งหมด 3420 คน จัดการเรียนการสอนหลายรูปแบบ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยใช้หลักการผสมผสาน เช่น การแบ่งนักเรียนในหนึ่งห้องเรียนเป็นสองกลุ่ม โดยจะให้มาเรียนสลับวันกัน ซึ่งกลุ่มแรกจะเรียนในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ / อังคาร พฤหัส และเสาร์ ในส่วนของอาหารกลางวันมีการจัดอาหารกลางวันรับประทานในห้องเรียนโดยโรงเรียนออกแบบในการดำเนินการ นอกจากนี้โรงเรียนจะมีมาตรการคัดกรองวัดไข้ และอาการเสี่ยงก่อนเข้ายังสถานศึกษา ให้นักเรียนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่ในสถานศึกษา  จัดจุดล้างมือและเจลแอลกอฮอลล์ไว้ภายในบริเวณโรงเรียน  เว้นระยะห่างในห้องเรียนลดความแออัด ลดการจัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสหรือเป็นกลุ่ม เน้นการทำความสะอาดบริเวณต่างๆในโรงเรียนมากขึ้น 

   ส่วนโรงเรียนอุดรพิทยานุกูรณ์ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่อันดับต้นๆของประเทศมีนักเรียนกว่า 4500 คน จัดการเรียนการสอนโดยแบ่งนักเรียนเป็นสองกลุ่ม คือ มัธยมต้นและปลาย โดยระดับม.ต้น จะเรียนวันจันทร์ พุธ ศุกร์ / ส่วนม.ปลายจะเรียนในวันอังคาร และพฤหัส แต่เน้นในการเรียนออนไลน์แทน ในส่วนของอาหารกลางวันจะมีการแบ่งเวลารับประทานให้นักเรียนลงมารับประทานตามที่โรงเรียนกำหนด 

   เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ โรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้  โดยโรงเรียนได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่เข้ามาช่วยในการจัดการบริหารและการดูแล   อย่างไรก็ตาม โรงเรียนต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้เข้าใจว่าเราอยู่ในสถานการณ์ภาวะวิกฤตที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งเราต้องเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนทุกคนต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรกแต่เรื่องของการเรียนการสอนก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน โรงเรียนจึงต้องปรับตัว หาวิธีการเรียนการสอน แบบ new normal