03-09-2563

ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดแหล่งการเรียนรู้ Inspiration Square

   ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดแหล่งการเรียนรู้ Inspiration Square และห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ณ โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยกล่าวแสดงความชื่นชมในศักยภาพของนักเรียน ที่ถือเป็นผู้นำด้านการจัดการเรียนการสอนพร้อมด้วยนักเรียนรู้เทคโนโลยีที่จะผลิต “นวัตกร” สู่การพัฒนาสังคมและประเทศอย่างยั่งยืน ที่มีความเจริญ สู่ศตวรรษที่ 21 อย่างก้าวกระโดด โดยทางโรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการสามารถก้าวข้ามอุปสรรคได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้เกิดการเรียนการสอนที่ทันสมัย ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากแหล่งเรียนรู้ อุปกรณ์ เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้วางพื้นฐาน Unplug Coding ให้เด็กทุกคน ทุกระดับชั้น เพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และเมื่อถึงระดับที่สูงขึ้นก็สามารถต่อยอดไปเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ ตามความถนัดได้ต่อไป

   ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ กำลังทำโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ โดยมีแนวคิดให้คนไทยทั้งประเทศ ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือ สติ (STI) ได้ตั้งแต่เด็กเล็ก ด้วยการเพิ่มพลังวิทยาศาสตร์จากหลักสิบเป็นหลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่น ซึ่งถือเป็นการเพิ่มพลังความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แบบต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้คนไทยได้มีพื้นฐานความคิดอย่างเป็นระบบแบบวิธีวิทยาศาสตร์ ซึ่งในอนาคตเด็กทุกคนจะต้องมีพื้นฐาน Coding และสติ (STI) ควบคู่กันไป และหวังว่าทุกโรงเรียน จะสามารถจัดการเรียนการสอนให้เด็กมีส่วนร่วมกับเรื่องที่สนใจอยากรเรียนรู้ โดย "ครู" มีหน้าที่สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อความชอบของเด็ก ทำให้เด็ก มีความสุข แม้จะเป็นเรื่องยาก ก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้ และไม่เกินความพยายามของเด็กทุกคนในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมการนำเสนอโครงงานและกิจกรรมของนักเรียน พร้อมทั้ง เปิดแหล่งการเรียนรู้ Inspiration Square ที่ได้มีการจัดสภาพแวดล้อมให้ร่มรื่น น่าเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ใช้สถานที่ในการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองเต็มตามศักยภาพ เกิดแรงบันดาลใจในการแสวงหาความรู้ในบรรยากาศโรงเรียน และเปิดห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ที่สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี รวมถึงสร้างความรู้สึกดีต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อการเรียน ทำให้เกิดลักษณะของการเป็นผู้รักการเรียน มีความต้องการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ นำมาซึ่งการวางรากฐานของการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป