21-09-2563

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน) ร่วมกับพันธมิตร แถลงถึง “ความก้าวหน้าโครงการพัฒนายาชีววัตถุของประเทศ”

   รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ร่วมกับคณะผู้วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยา ชีววัตถุ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ,ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน), บริษัทคินเจน ไบโอเทค จำกัด, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ฟาร์มา นูวา จำกัด ร่วมกันแถลงถึง“ความก้าวหน้าโครงการพัฒนายา ชีววัตถุของประเทศ” สืบเนื่องจากการลงนามความร่วมมือ “โครงการพัฒนายาชีววัตถุและวัคซีน เพื่อลดการนำเข้า และเพิ่มโอกาสส่งออก” เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 กำหนดเวลา 5 ปี วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตยาและวัคซีนใช้เองและเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสม เป็นการลดการนำเข้าและลดการพึ่งพายาชีววัตถุจากต่างประเทศ โดยภายใต้โครงการระยะที่ 1 มียาชีววัตถุต้นแบบที่อยู่ระหว่างกระบวนการศึกษาพัฒนา ได้แก่ โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) สำหรับรักษาภาวะขาดฮอร์โมน ทำให้มีการเจริญเติบโตผิดปกติ, ยาอีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) สำหรับรักษาภาวะโลหิตจาง, ยาอิมมูโนโกลบูลิน สำหรับโรคมือเท้าปาก (IVIG EV71) และยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) สำหรับมะเร็งเต้านม

    ด้าน ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เพื่อสร้างความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการพัฒนายาชีววัตถุ อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ตามโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Economy Model) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงจตุภาคี ของเครือข่ายนักวิจัย ภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ในด้านต่าง ๆ ทั้งกระบวนการค้นคว้าวิจัยยาชนิดใหม่ การยกระดับมาตรฐานการวิจัย ในสัตว์ทดลองและทางคลินิก และการพัฒนาห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบคุณลักษณะและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เป้าหมายหลักด้วย

   ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในระยะเวลา 3 ปีแรก ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการภายใต้งบประมาณปี 2561 ถึงปัจจุบัน โครงการได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยาชีววัตถุจากระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตระดับต้นแบบกึ่งอุตสาหกรรมตามมาตรฐาน GMP มีการพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ระดับอุดมศึกษา และเจ้าหน้าที่ในสายงานให้มีทักษะความรู้ ความชำนาญที่จำเพาะต่ออุตสาหกรรมยาชีววัตถุ ทั้งในด้านกระบวนการผลิตและการควบคุมคุณภาพ อันจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการยกระดับอุตสาหกรรมยาชีววัตถุ สู่เชิงพาณิชย์ระยะต่อไป นอกจากนั้นมียังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ควบคู่กันไปให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นการสร้างมาตรฐานการผลิตระดับ GMP ในโรงงงานต้นแบบฯ การพัฒนาหน่วยวิเคราะห์ทดสอบ การต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งนี้เพื่อให้การวิจัยพัฒนายาสามารถขึ้นสู่ระดับอุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้องปลอดภัย ประชาชนสามารถเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพในราคาที่เหมาะสม สร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางยาให้กับประเทศ