06-10-2563

สวทช. โดยโปรแกรม ITAP เครือข่าย ม.พะเยา เข้าแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการปรับปรุงระบบ

   ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ไอแทป (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า โปรแกรม ITAP สวทช. ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือ อว. เป็นกลไกที่สำคัญและมีประสิทธิภาพอันหนึ่งของรัฐบาลในการพัฒนาSME ไทย โดยปัจจุบัน ITAP ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ ในโครงการให้คำปรึกษาเชิงลึกที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มากกว่า 1,200 โครงการต่อปี ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ สามารถเข้าร่วมได้ทันทีเนื่องจากเปิดให้บริการทุกวันทำการ เปิดให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ เข้าร่วมโครงการได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเทคโนโลยี นวัตกรรม และลดต้นทุนทางธุรกิจ รวมถึงเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ซึ่งปัจจุบัน ITAP มีเครือข่ายทั่วประเทศ 19 แห่ง และมีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 1,500 ราย โดย ITAP เครือข่าย ม.พะเยา เข้ามาเป็นเครือข่ายในปี 2561 ให้บริการ SMEs ไทยในพื้นที่ภาคเหนือ ปีละมากกว่า 50 ราย มีที่ปรึกษาเทคโนโลยี (ITA) ที่จะรับโจทย์จากผู้ประกอบการและช่วยสรรหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เข้าไปช่วยเหลือบริษัทในโจทย์ต่าง ๆ เช่น การแก้ปัญหา การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ SME เข้มแข็งและเติบโตต่อไปได้

   ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กรีธาชาติ ผู้จัดการเครือข่าย ITAP มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า การดำเนินงานของ ITAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยพะเยา 3 ปีที่ผ่านมา สามารถสนับสนุนธุรกิจในระดับ SMEs ในการนำเทคโนโลยีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ในหลายด้าน เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน นวัตกรรมอาหาร การพัฒนาเครื่องจักรเพื่อกระบวนการผลิต การส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร และ Smart Farm รวมแล้วไม่น้อยกว่า 150 โครงการ

   ขณะที่ ดร.ศตวรรษ ทนารัตน์ อาจารย์ประจำคณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP กล่าวว่า จากโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด จ.ลำปาง ที่ต้องการแก้ไขปัญหา คือ เรื่องน้ำเสียของกิจการ ที่เกิดจากกระบวนการเลี้ยงไก่ ทีมผู้เชี่ยวชาญจึงได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนน้ำเสียและของเสียให้กลายเป็นก๊าซชีวภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบพลังงานทดแทนได้ โดยการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ในกิจการ ระบบบำบัดเสียน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นอย่างมีประสิทธิภาพ