21-10-2563

โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ชูหลักสูตรAPNเพื่อเป็นการพัฒนาการพยาบาลผู้ป่วย

   ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมจิต หนุเจริญกุล ที่ปรึกษาโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า. APN ชื่อเต็มคือ Advanced Practice Nurse ภาษาไทยคือผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง APN เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาสุขภาพของประชาชนมีความซับช้อนมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุ การมีโรคอุบัติใหม่ ร่วมกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์เทคโนโลยีดิจิทัล ผนวกกับความไม่เท่าเทียมของประชาชนในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ จึงมีความต้องการพยาบาลที่เชี่ยวชาญในการดูแลและเป็นที่ปรึกษาของผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการดูแลผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิต สร้างระบบการจัดการและประสานการดูแลในทีมสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่มีคุณภาพและต่อเนื่องทั้งในโรงพยาบาล ที่บ้านและชุมชน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาลโดยการวิจัย สร้างนวตกรรมโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์

   ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.เรณู พุกบุญมี ประธานผู้บริหารวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย และรองเลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าวว่าหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตรเป็นหลักสูตรที่มีคุณวุฒิเทียบเท่าปริญญาเอกทางด้านการปฏิบัติการพยาบาล มุ่งพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโททางการพยาบาล ให้เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเชี่ยวชาญ ใช้เวลาฝึกอบรม 3 ปี หลังจบการศึกษาผู้เข้าฝึกอบรม สามารถจัดการดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อน มีทักษะการพยาบาลขั้นสูงที่จำเป็นในแต่ละสาขา สามารถปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยโดยตรง มีสมรรถนะเป็นผู้นำทีมในการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล สามารถพัฒนาระบบ ออกแบบนวัตกรรม และทำวิจัยทางคลินิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีที่ทำหน้าที่ผลิต APN วุฒิบัตรฯ  เราจะเป็นแหล่งสนับสนุนสำคัญที่ทำให้  APN จากหลักสูตรวุฒิบัตร เป็นผู้นำในการดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและช่วยเหลือให้พยาบาลวิชาชีพให้สามารถจัดการกับประเด็นปัญหาทางการพยาบาลที่เกิดขึ้นในการดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อน โดย 1. เปิดช่องทางสื่อสารทาง social media ได้แก่ Facebook FanPage “APN  ชวนคุยเพื่อเป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพยาบาลวิชาชีพทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ สร้างเครือข่าย สร้างทีมในการพัฒนาพยาบาลทั่วประเทศ และช่องทาง Line Official ชื่อว่า “APNbyRSoN” เพื่อเป็นที่ปรึกษาในกรณีที่มีปัญหาเร่งด่วน เรามี APN ที่มีความเชี่ยวชาญทั้ง 10 สาขาคอยตอบคำถาม 2. จัดประชุมทางวิชาการออนไลน์เดือนละ 1 ครั้ง ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับพยาบาลวิชาชีพทุกคนที่สนใจโดยไม่มีค่าลงทะเบียน 3. จัดประชุมวิชาการสัญจรไปตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพได้มีโอกาสเพิ่มพูนและแลกเปลี่ยนความรู้ และ 4. เป็นตัวกลางในการทำสนับสนุนส่งเสริมการทำวิจัย หรือ R2R ระหว่างพยาบาลวิชาชีพที่สนใจในแต่ละสาขานั้น ๆ สร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการ

   นาวาโทหญิง รัตตินันท์ สิงห์ประเสริฐ ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชกรมแพทย์ทหารอากาศ กล่าวว่า หลังจากผ่านการฝึกอบรมจากหลักสูตรฯ พวกเราได้ดูแลผู้ป่วยตามความเชี่ยวชาญของแต่ละคนได้แก่ กลุ่มโรคกลุ่มเบาหวาน กลุ่มโรคไต กลุ่มมะเร็งศีรษะและลำคอ กลุ่มโรคลำไส้ใหญ่ออสโตมีและบาดแผล กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ศัลยกรรมประสาทสมองกลุ่มโรคระบบประสาทไขสันหลัง และ กลุ่มผู้ป่วยระยะท้าย เช่นการปรับการใช้อินซูลินตามการบริโภคอาหารในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน การจัดการอาการที่มีอาการบวมในกลุ่มผู้ป่วยโรคไต การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอโดยใช้กลุ่มมิตรภาพบำบัด ส่งเสริมให้ผู้ป่วยและญาติดูแลทวารเทียมได้โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ดูแลจัดการผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมและช่วยลดความขัดแย้งในครอบครัว ป้องกันและจัดการภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองโป่งพองแตกที่อยู่ในภาวะวิกฤต จัดโปรแกรมส่งเสริมการฟื้นหายในผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนล่าง จัดการความปวดในผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้านโดยใช้ยามอร์ฟีนชนิดฉีดใต้ผิวหนัง