27-10-2563

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เปิดคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสตัฟฟ์สัตว์ พร้อมเจาะลึกศูนย์ทำ Taxidermy

   ดร.นพรัตน์ เทพเทพา ผู้อำนวยการสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. เปิดเผยว่า อพวช. เป็นหน่วยงานซึ่งมีภารกิจหลักในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสตัฟฟ์สัตว์ เป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีการสตัฟฟ์สัตว์เพื่อการเก็บรักษา และจัดแสดงผ่านตัวอย่างสัตว์สตัฟฟ์ เกือบทุกกลุ่ม ซึ่งการสตัฟฟ์สัตว์เป็นการใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับศิลปะทำให้สัตว์ที่ตายแล้วมีท่าทางเสมือนสัตว์เหล่านี้ยังมีชีวิตในอิริยาบถที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด เพื่อใช้สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการ พร้อมทั้งใช้เป็นตัวอย่างอ้างอิงทางวิชาการและศึกษา วิจัย ให้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งทาง อพวช. ถือเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์อันดับต้น ๆ ของประเทศ ที่มุ่งมั่นทำการศึกษาและพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจังมาโดยตลอดและเป็นที่ยอมรับระดับประเทศอีกด้วย

   ด้าน นายวัชระ สงวนสมบัติ ผู้อำนวยการกองศูนย์บริหารคลังตัวอย่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์ของ อพวช. กล่าวว่า นักธรรมชาติวิทยา ของ อพวช. ได้ทำการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาและการเก็บรักษาวัสดุตัวอย่างด้านธรรมชาติวิทยามาโดยตลอด โดยเฉพาะการสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิคสมัยใหม่อย่าง Taxidermy ด้วยความพร้อมทางด้านบุคลากร สถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ มีการจัดฝึกอบรมหลักสูตร การสตัฟฟ์สัตว์ให้แก่นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจ โดยที่ผ่านมา อพวช. ได้ทำการสตัฟฟ์สัตว์มาอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนกว่า 478 ตัว อาทิ เสือโคร่ง ยีราฟ ม้าลาย จระเข้ ปลาช่อนอเมซอน ซึ่งได้รับความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อุทยานหินล้านปีและ ฟาร์มจระเข้ พัทยา และโรงพยาบาลสัตว์ นำสัตว์ที่เสียชีวิตแล้วมาให้ดำเนินการต่อแทนที่จะต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าไป โดยการสตัฟฟ์สัตว์ หรือ Taxidermy เป็นการใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับศิลปะ เพื่อให้ผลงานออกมาเสมือนจริงมากที่สุด โดยเฉพาะกายวิภาคเฉพาะของสัตว์ชนิดนั้น ๆ

   ที่ใช้ในการคงสภาพร่างกายสัตว์หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ให้เก็บรักษาอยู่ได้นาน และยังคงลักษณะของสัตว์ไว้ได้เหมือนเดิมทุกประการ ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ไม่ให้ชำรุดเสียหาย จากความร้อน ความชื้น แมลง เชื้อรา หนูและแมลงสาบ ที่อาจทำความเสียหายต่อสัตว์สตัฟฟ์ได้ รวมถึงการตกแต่งลักษณะภายนอกให้ครบสมบูรณ์ ถูกต้อง และสวยงาม เหมือนกับการได้ชุบชีวิตสัตว์ตัวหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้วกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งเพื่อนำมาจัดแสดงนิทรรศการให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ ถือเป็นประโยชน์และมิติใหม่ของแนวทางการจัดนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยและกลายเป็นสมบัติของประเทศชาติต่อไป