10-11-2563

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เสริมแกร่งหน่วยบ่มเพาะธุรกิจหนุนสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน

   นางสาวนุชนภา รื่นอบเชย ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี เดินหน้าโครงการยกระดับขีดความสามารถหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปี พ.ศ.2563 เพื่อพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ของหน่วยบ่มเพาะฯ ให้สามารถรองรับการสร้างผู้ประกอบการใหม่ ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น และเพิ่มพูนองค์ความรู้เชิงนโยบายที่จำเป็นเกี่ยวกับการบริหารหน่วยบ่มเพาะฯ สำหรับการพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์อย่างเป็นระบบ เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ และนานาชาติอย่างมีประสิทธิผล

   ด้าน ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อมูลจากที่ปรึกษาพบว่าผู้ประกอบการทั่วโลกที่ได้รับการบ่มเพาะธุรกิจนั้นมีอัตราการอยู่รอดและเติบโตมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการบ่มเพาะถึงร้อยละ 30 สำหรับโครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปีนี้ได้ร่วมกับสำนักประสานและส่งเสริมกิจการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ทำการประเมินหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษานำร่อง จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลกรุงเทพ

   ขณะที่นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ได้รวบรวมข้อมูลของหน่วยบ่มเพาะฯ ทั้ง 5 แห่ง แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกับ บริษัท ครีด้า จำกัด ( Creeda) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญขั้นสูงด้านบ่มเพาะธุรกิจระดับโลกมีประสบการณ์กว่า 35 ปี เป็นที่ปรึกษามากกว่า 50 ประเทศ จนทราบถึงสถานภาพปัจจุบันแล้ว จึงเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ เพื่อทำการประเมินตามหลักมาตรฐานสากล แล้วนำผลมารายงานข้อค้นพบ พร้อมข้อเสนอแนะกระบวนการ ในการประยุกต์ใช้โมเดลที่มีความสอดคล้องกับบริบทและสถานภาพการบริหารจัดการของหน่วยบ่มเพาะฯ ของแต่ละสถาบันต่อไป

   ผลการประเมินทำให้ทราบถึงจุดแข็งของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจของ 5 มหาวิทยาลัย ทั้งในเรื่องของระยะเวลาและขั้นตอนการบ่มเพาะที่เหมาะสมและสอดคล้องกับ best practice ในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังได้มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มากมายที่จะนำมายกระดับขีดความสามารถของหน่วยบ่มเพาะฯ อาทิ การปรับแผนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและระบบนิเวศในชุมชนให้มากขึ้น, การปรับยุทธศาสตร์ให้เข้ากับความต้องการของผู้ประกอบการและความต้องการของตลาดในพื้นที่ แทนการให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยและการดำเนินงานให้ตรงกับข้อกำหนดของผู้ให้ทุน, การสร้างเสริมความสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ซึ่งจะนำมาซึ่งการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่มากขึ้น, รวมถึงการปรับแผนยุทธศาสตร์ด้านการเงินให้มีความยั่งยืนและมีงบประมาณจากแหล่งทุนที่หลากหลาย โดยการหารายได้จากช่องทางและแหล่งทุนอื่น ๆ เป็นต้น