11-01-2564

กรมการแพทย์ เตือนการไม่สูบบุหรี่จะเป็นการลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจที่สำคัญที่สุด

   นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า บุหรี่เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจและ โรคหลอดเลือดอื่นๆ รวมถึงโรคเส้นเลือดสมอง ซึ่งรวมกันแล้ว เป็นสาเหตุการเสียชีวิตระดับต้นๆ ของโลก บุหรี่ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ ทำให้หัวใจเต้นเร็วและความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในควันบุหรี่มีสารพิษหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและหัวใจ ผู้สูบบุหรี่แต่ละรายจะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคจากบุหรี่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นกับระยะเวลาที่สูบ ปริมาณที่สูบ ลักษณะพันธุกรรม การมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย

   สำหรับคนที่ไม่สูบบุหรี่หากได้รับควันเข้าไป จะทำให้เกิดโทษเหมือนกับคนที่สูบบุหรี่ได้ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทั้งผู้ชายและผู้หญิง ดังนั้น การไม่สูบบุหรี่จะเป็นการลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจที่สำคัญที่สุดและในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว การเลิกสูบบุหรี่จะเป็นการลดอัตราการเกิดโรคซ้ำและลดอันตรายได้

   ด้านนายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเมื่อรู้สึกอยากสูบบุหรี่ ควรประวิงเวลาออกไปเรื่อยๆ อย่าสูบบุหรี่ทันทีที่อยากสูบ ดื่มน้ำหรือล้างหน้าทันทีเมื่อรู้สึกหงุดหงิด สูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ และช้าๆ ทำเช่นนี้ 2-3 ครั้ง จะรู้สึกผ่อนคลาย ออกกำลังกาย เป็นประจำ หรือหากิจกรรมอื่นๆทำ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากบุหรี่ ยืนยันการเลิกบุหรี่ โดยการทิ้งอุปกรณ์การสูบบุหรี่ หรือรับคำปรึกษาในการเลิกบุหรี่ โดยวิธีหักดิบ ค่อยๆลดจำนวนจนเลิกการสูบได้อย่างถาวร หรือรับประทานยาช่วยเลิกบุหรี่โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแล