09-02-2564

กระทรวงวัฒนธรรม เร่งปรับแผนงานวัฒนธรรมสร้างมูลค่า พัฒนาชุมชนคุณธรรม-ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า สร้างงาน สร้างรายได้

   นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ 2/2564 เมื่อเร็วๆนี้ผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด หรือ สวจ. ทั่วประเทศ โดยมีผู้บริหารและข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ เข้าร่วม ณ ศูนย์ประชุมชั้น 8 กระทรวงวัฒนธรรม

   ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ได้แจ้งต่อที่ประชุมให้รับทราบถึงแนวทางปรับใช้งบประมาณปี 2564 ให้สอดคล้องกับนโยบายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ซึ่งในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม เกี่ยวข้องในเรื่องของการอนุรักษ์ฟื้นฟู สร้างคุณค่า ความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลัง บวร และผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand: CPOT) เช่น งานผ้า เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย ของตกแต่งบ้าน ของที่ระลึก อาหาร ขอให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ทุกจังหวัดปรับงานพื้นที่ให้สอดคล้องกับ BCG โมเดลด้วย อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมได้ขอความร่วมมือ สวจ. ส่งรายชื่อชุมชนคุณธรรมฯ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย หรือ CPOT อย่างน้อยจังหวัดละ 10 ชุมชน ๆ ละ 10 ชิ้น เพื่อพัฒนาชุมชนคุณธรรมฯ และ CPOT อย่างน้อย 500 ชุมชนทั่วประเทศ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาพัฒนาต่อยอด ให้คำแนะนำ โดยจะมีการจัดงานมหกรรมแกรนด์ CPOT เพื่อเปิดโอกาสชุมชนคุณธรรมฯ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำสินค้ามาจำหน่าย สร้างงาน สร้างรายได้

   ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ขอให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจรณรงค์ป้องกันเฝ้าระวังควบคุมโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้รับรายงานว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโรคโควิด 19 ภายใต้การนำพลัง บวร ชุมชนคุณธรรมฯ และ สวจ.ทั่วประเทศทั้งในรูปแบบรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ ช่องทางออนไลน์ คลิปวิดิโอ อินโฟกราฟิก ไปยังภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรายงานการดำเนินงานไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย โดยภาพรวมจังหวัดที่จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์โควิด 19 มากที่สุด ได้แก่ สวจ.ปทุมธานี 329 ชิ้น รองลงมา สวจ.ขอนแก่น 133 ชิ้น และ สวจ.ระยอง 81 ชิ้น

   นอกจากนี้ยังได้แจ้งให้ สวจ.ทั่วประเทศ ทราบว่า ขณะนี้ทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ กำลังเปิดเพื่อขอรับทุนสนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์และการจัดกิจกรรมการเฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อ ดังนั้น ขอให้แต่ละจังหวัดพิจารณาว่ามีโครงการใดที่เหมาะสมในการรับทุน พร้อมกับเร่งดำเนินงานตามแผนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากที่สุดด้วย