19-09-2565

กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย เปิดหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” สอนเด็กรู้ทันภัยสื่อบนโลกดิจิทัล

   นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินโครงการการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ , กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงมหาดไทย , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและ บริษัท AIS โดยนางสาวตรีนุช กล่าวว่า ภัยร้ายจากไซเบอร์ เป็นภัยมืดที่ส่งผลร้ายในหลายมิติ ไม่เลือกช่วงอายุ ไม่เลือกเพศ เกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลา ครอบคลุมทั้งระดับโลก ระดับประเทศ สังคม ชุมชน เข้าสู่ครัวเรือน และรุกเข้าถึงบุคคล ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ระดับรุนแรง และระดับที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะภัยของไซเบอร์ที่มีต่อเด็กนักเรียน

   นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า เด็กนักเรียน ซึ่งเปรียบเสมือนผ้าขาว อาจจะรู้ไม่เท่าทัน ขาดวุฒิภาวะในการประเมินเนื้อหา ขาดการตระหนักรู้ การควบคุมตนเอง การยับยั้งชั่งใจ และความอยากทดลอง ซึ่งหลายกรณีส่งผลกระทบที่มีระดับความรุนแรงจนอาจทำให้เด็กนักเรียนสูญเสียโอกาสที่ดีในอนาคต และประเทศอาจต้องสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่า ซึ่งหลักสูตรดิจิทัล “อุ่นใจไซเบอร์” เป็นอีกก้าวสำคัญของภาคการศึกษาไทยที่จะทำให้เราก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการในฐานะเสาหลักภาคการศึกษาของประเทศ มีความมุ่งมั่นตั้งใจขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ที่ต้องการให้เด็กไทยมีทักษะใหม่ๆ ด้านดิจิทัลมองเห็นประโยชน์จากการใช้งาน และความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสิ่งที่ ศธ. กำหนดให้เป็น 1 ในนโยบายการขับเคลื่อนคุณภาพทางการศึกษา เด็กนักเรียนจะต้องเข้าใจถึงความปลอดภัย และรู้จักโทษร้ายที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ต้องรู้จักการเลือกรับและรู้ถึงข้อจำกัด ผลเสีย และภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน

   รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า หลักสูตรนี้อุ่นใจไซเบอร์นี้ ได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้เป็นหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสายงานสอน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สามารถนำมานับชั่วโมงการพัฒนา เพื่อประกอบการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด ขอขอบคุณ 

   อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณภาคีเครือข่ายที่เข้ามาทำงานร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่ง ศธ.จะเดินหน้าขยายความครอบคลุมการเรียนการสอนไปให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้บุคลากรทางการศึกษา และเด็กไทย ให้มีความรู้ทักษะดิจิทัลรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ที่แฝงมากับการใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาความสูญเสียด้านบุคลากรที่มีคุณค่าของประเทศ รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดสูงสุดทั้งต่อการเรียนและการใช้ชีวิตในอนาคตต่อไป