06-12-2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอการสอนประวัติศาสตร์แนวใหม่ ด้านนายกรัฐมนตรีกำชับเด็กต้องรู้เรื่องใกล้ตัวในชุมชน

 

 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรี ร่วมชมนิทรรศการ “
การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนางสาวตรีนุช เทียนทอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ได้ประกาศนโยบายและจุดเน้นเรื่องการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2566
โดยการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม ให้มีความทันสมัย
น่าสนใจ เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น
และการเสริมสร้างวิถีชีวิตของความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ซึ่งจัดนิทรรศการในวันนี้
ศธ.ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ใน 4 ส่วน ดังนี้
ส่วนแรก วิชาประวัติศาสตร์ประกาศความเป็นไทย ปรับโครงสร้างเวลาเรียนรายวิชาพื้นฐาน
ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 โดยได้จัดทำร่างประกาศ ศธ.เรื่อง
การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1
รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ โครงสร้าง 8+1
เพื่อให้สถานศึกษานำไปใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก
(Active Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในมิติของการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล
และการใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้


   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่ 2 การนำเสนอ Best Practice
จากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เช่น โรงเรียนสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ นำเสนอ "เรียนรู้ประวัติศาสตร์ใกล้ตัว
สู่การสร้างสรรค์ชุมชนอย่างยั่งยืน" ที่มุ่งเน้นการหาความรู้จากชุมชนใกล้ตัวของผู้เรียน
และจัดทำสื่อถ่ายทอดประสบการณ์ลงสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Podcast, TiKTok, Live
เพื่อสร้างการรับรู้ในประวัติความเป็นมาผลิตภัณฑ์ชุมชน จุดเด่น เอกลักษณ์ และความภาคภูมิใจ,
โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำเสนอ
"เรียนรู้อย่างภูมิใจสู่นักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นเยาว์" เริ่มต้นจากการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในห้องเรียน ด้วยสื่อ
Animation “ The Diary" และ การเรียนรู้ในห้องเรียน
ขยายสู่การเรียนรู้จากแหล่งเรียนประวัติศาสตร์รอบโรงเรียน จากการเรียนรู้ เป็นการเห็นคุณค่า
สู่ความภาคภูมิใจ และจิตอาสามัคคุเทศก์น้อย ส่วนที่ 3 เป็นการสาธิตและมอบสื่อบอร์ดเกมส์
จากมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และส่วนที่ 4
เป็นการการนำเสนอสื่อและแหล่งเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสื่อประวัติศาสตร์แบบใหม่
ในรูปแบบสื่อการ์ตูนแอนิเมชั่น สื่อบอร์ดเกม สื่อการเรียนรู้นอกห้องเรียนเสมือนจริง (Vitual Field Trip)
สื่อเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (AR : Augmented Reality)

และสื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย อาทิ สื่อการ์ตูนแอนิเมชั่น "จิตตนคร"
คุณธรรมนำสู่คุณลักษณะอันพึงประสงค์ สื่อการ์ตูนแอนิเมชั่น "สัมมาทิฏฐิ"
คำสอนสำคัญเสมือนกุญแจที่จะไขไปสู่พระธรรมคำสอน และ สื่อการ์ตูนแอนิเมชั่น (Animation) THE DARY
ย้อนเวลาสู่อดีต เพื่อการเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทย สื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ นอกห้องเรียนเสมือนจริง
(Virtual Field Trip) เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย 3 สมัย เป็นต้น
   นางสาวตรีนุช กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับนักเรียนที่มาร่วมจัดนิทรรศการด้วยว่า
การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ต้องเริ่มต้นจากประวัติศาสตร์ชุมชน
เดินก้าวเท้าออกจากโรงเรียนก็เป็นประวัติศาสตร์แล้ว ให้เด็กรู้จักบ้านเราก่อน รู้เราเป็นใครมาจากไหน
มีความเป็นมายังไง แล้วเกิดความรักชุมชน และขยายสู่ประวัติศาสตร์ชาติ ครูต้องพัฒนาการสอนใหม่เป็นแบบ
active learning สอนให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ มีเหตุผล โดยเชื่อมโยงจากสิ่งใกล้ตัวก่อน ให้เด็กเข้าใจง่าย เช่น
ทำไมประเทศไทยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของใคร พันท้ายนรสิงห์ ทำไมถึงยอมโดนประหาร
ทั้งที่พระเจ้าเสือให้อภัยแล้ว ก็เพราะต้องการรักษากฎหมายบ้านเมืองเอาไว้ เป็นต้น