07-02-2566

สสส. ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ThaiPBS และภาคีเครือข่าย ถอดบทเรียน “ฝุ่นนอกรั้ว”

   นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) องค์การ กระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ThaiPBS และภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ-ThaiPBS
สำนักการศึกษา กทม. และห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม จัดเสวนา “ฝุ่นนอกรั้ว” ถอดบทเรียนฝุ่นศึกษาจากโรงเรียนในสังกัด กทม. เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายทอดความรู้ของครูในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ทั้ง กทม. ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ นำไปถอดบทเรียนและจัดทำสรุปออกแบบเชิงปฏิบัติการ ต่อยอดแนวทางความรู้ด้านฝุ่นศึกษาให้เข้าถึงกลุ่มเด็ก เยาวชน อย่างมีประสิทธิภาพ ความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทุกช่วงวัย ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก เยาวชน หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือน ธันวาคม - มีนาคม ของทุกปี ปี 2565 สสส. ร่วมกับ กทม. และภาคีเครือข่าย เตรียมความพร้อมรับมือฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความตระหนักรู้แก่เด็กและเยาวชน ผ่านโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ขณะนี้พื้นที่กรุงเทพมหานคร มีโรงเรียนนำร่องอยู่ 33 แห่ง เป็นโรงเรียนสังกัด กทม. 32 แห่ง และโรงเรียนสังกัดเอกชน 1 แห่ง รวมทั้ง การต่อยอดนวตกรรม “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” สู่ธงคุณภาพอากาศใน 437 โรงเรียน กทม. ที่เป็นก้าวที่สำคัญต่อ การขยายผลสุขภาวะในโรงเรียนที่เป็นการบูรณาการความร่วมมือที่สำคัญ ซึ่งวันนี้เป็นกิจกรรมถอดบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมาร่วมกับโรงเรียนในสังกัด กทม. และโรงเรียนจาก จ.ขอนแก่น เชียงใหม่ ลำพูน และพะเยา เพื่อศึกษากระบวนการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในสถานศึกษา แล้วส่งต่อนวตกรรมสำคัญนี้ไปยังกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

   ด้าน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เป็นหนึ่งในนโยบายด้านการศึกษาที่ กทม. ให้ความสำคัญ ใช้รูปแบบการให้องค์ความรู้เรื่องฝุ่น PM2.5 เน้นการให้ความรู้พื้นฐานกับนักเรียน นอกจากนี้ กทม. ยังได้ดำเนินกิจกรรมปักธงสุขภาพ เพื่อแจ้งเตือนฝุ่น มีการ อ่านค่าจากเครื่องวัดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ถือเป็นโอกาสดีที่เราได้เรียนรู้ว่าค่าฝุ่นเป็นอย่างไร ธงแต่ละสี มีความหมายอย่างไร สีฟ้า สีเขียว สีเหลือง สีแดง ต้องทำอย่างไร และหากเป็นสีส้ม หรือสีแดงต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้นักเรียน และทุกคน ได้เรียนรู้ เป็น Active Citizen และตระหนักถึงอันตรายของฝุ่น PM2.5 ไปด้วยกัน จึงจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ที่ทำให้เยาวชนสามารถนำไปขยายยังครอบครัว ชุมชน และสามารถดูแลป้องกันตัวเองได้