25-04-2566

ไบโอเทค สวทช. จับมือกรมประมง ในการคัดกรอง ทดสอบและพัฒนาวิธีการผลิตเชื้อจุลินทรีย์สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จริง

   ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. และกรมประมง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง “การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมทางด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2563 โดยหนึ่งในความร่วมมือ ที่ สวทช. ให้ความสำคัญก็คือ การพัฒนาการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่ง สวทช. ได้ให้การสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 1 (ปม. 1 ย่อมาจาก ประมง 1) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนคัดเลือกหาเชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์ใหม่ ๆ มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมในการนำไปพัฒนาต่อยอด เป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์สูตรใหม่ ที่ผ่านการทดสอบคุณสมบัติด้านต่าง ๆ ที่ได้มาตรฐานตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การทดสอบคุณสมบัติเชิงหน้าที่เช่นความสามารถในการย่อยสารอาหาร ความสามารถในการช่วยกำจัดขยะไนโตรเจนหรือลดของเสีย การช่วยปรับเปลี่ยนหรือรักษาสมดุลของประชากรจุลินทรีย์ทั้งในตัวกุ้งและ ในบ่อ การทดสอบคุณสมบัติด้านความปลอดภัย เช่น การสร้างสารพิษและความเป็นพิษต่อเซลล์สัตว์ การมียีนที่ทำให้เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะและความสามารถในการถ่ายทอดยีนดื้อยาไปสู่สิ่งแวดล้อม การทดสอบคุณสมบัติ ที่เกี่ยวข้องการผลิตและการนำไปใช้ ได้แก่ วิธีการผลิต การเจริญเติบโต การสร้างสปอร์ การทนต่อสภาพแวดล้อมของเชื้อ ซึ่งการทดสอบทำทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับฟาร์ม โดยข้อมูลทางวิชาการที่ได้เหล่านี้จะทำให้เกษตรกรเลือกใช้เชื้อได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการผลิตกุ้งดีขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มอัตรารอด และช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้ ยังสามารถนำไปสนับสนุนการขึ้นทะเบียนจุลินทรีย์สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้มาตรฐานอีกด้วย จากจุลินทรีย์ที่ได้นำมาทดสอบภายใต้ความร่วมมือนี้ พบว่าเชื้อ Bacillus subtilis (บาซิลัส ซับติลิส) สายพันธุ์ BSN1 ที่แยกจากถั่วหมักนัตโตะหรือถั่วเน่าญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง เป็นสายพันธุ์ที่แยกโดยนักวิจัย ที่ หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้งซึ่งเป็นหน่วยวิจัยร่วมระหว่างไบโอเทค สวทช. กับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มของเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุของ โรคกุ้งเรืองแสงและโรคตับวายแบบเฉียบพลันซึ่งเป็นโรคสำคัญในกลุ่มอาการโรคกุ้งตายด่วน เมื่อนำ BSN1 ไปผสมอาหารให้กุ้งกินพบว่าสามารถช่วยลดอัตราการตายของกุ้งจากการติดเชื้อทั้งสองนี้ได้อีกด้วย ดังนั้น BSN1 จึงมีความเหมาะสมในการนำไปปรับปรุงเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ต่อไป ทั้งนี้ สวทช. ได้ลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้วัสดุชีวภาพ กับกรมประมงเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้กรมประมงสามารถนำเชื้อ ไปใช้ในเชิงสาธารณะประโยชน์ต่อไป

   ด้าน นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมง และ สวทช. มีความร่วมมือทางวิชาการกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2563 ได้ลงนามความร่วมมือกับ สวทช. เพื่อร่วมกันดำเนินงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนร่วมกันกำหนดทิศทางงานวิจัยและพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และทำให้สัตว์น้ำไทย มีเอกลักษณ์เป็นที่หนึ่งของโลก ตลอดจนสนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจากการดำเนินงานร่วมกันของกรมประมง และ สวทช. จนกระทั่งพบจุลินทรีย์สายพันธุ์ BSN1 ที่มีศักยภาพ สามารถนำไปต่อยอดผลิตเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 จึงนำจุลินทรีย์สายพันธุ์ดังกล่าว มาปรับปรุงเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 และขยายผลการผลิต หัวเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวไปยังหน่วยงานของกรมประมงในพื้นที่ จำนวน 24 แห่ง เพื่อผลิตและแจกจ่ายให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมไปถึงถ่ายทอดเทคโนโลยี
การผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ไปยังสหกรณ์ ชมรมและกลุ่มเกษตรกร จำนวน 18 แห่ง เพื่อผลิตและแจกจ่ายให้กับสมาชิก ส่งผลให้มีการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์อย่างกว้างขวาง ซึ่งช่วยลดการใช้สารเคมีในการเลี้ยงกุ้งทะเล บรรเทาความเสียหายจากการเกิดโรคในกุ้งทะเล และมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งทะเลของไทย ให้พลิกฟื้นกลับมาได้