19-05-2566

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่จังหวัดยะลาประชุมแนวทางการผลิตกำลังคนขั้นสูงเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม BCG ชี้ มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเป็นหน่วยพัฒนาจังหวัด

   ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. พร้อมนายพันธ์ุเพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการหัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวง อว.ประชุมแนวทางการผลิตกำลังคนขั้นสูงเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม BCG ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาและผู้บริหาร ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาได้นำเสนอผลการดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ที่ขับเคลื่อนด้วย อว.ส่วนหน้า จ.ยะลา ในการดำเนินการของ 3 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา วิทยาลัยชุมชนยะลา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับผิดชอบรวมทั้งสิ้น 64 ตำบล ใน จ.ปัตตานี จ. ยะลา และ จ.นราธิวาส โดยเน้นเรื่อง อาหารและเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่ รองมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ของใช้ และสมุนไพร เนื่องจากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความอุดมสมบูรณ์ด้านการเกษตร และโดดเด่นในการให้บริการ เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม ที่ผ่านมามีการจ้างงานจำนวน 561 อัตรา เกิดการบูรณาการหน่วยงานในมหาวิทยาลัย และเก็บข้อมูลรายตำบล เรื่อง แหล่งท่องเที่ยว ที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร และได้ทำการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ 10 ผลิตภัณฑ์ เพื่อไปพัฒนาต่อทางด้านการตลาด โดยจำหน่ายทั้ง off line และ on line เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในพื้นที่ถึง 67.24% แต่ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยต้องการการสนับสนุนเชิงนโยบายที่จะขับเคลื่อนโครงการนี้ไปสู่การแก้ไขปัญหาในจังห วัดชายแดนภาคใต้ เพราะจากการทำงานที่ผ่านมา ได้นำ BCG มาใช้เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร เช่น นำส้มโชกุน มาทำแยมในช่วงโควิด ซึ่งตอบโจทย์มาก สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องของชาวบ้านได้ ในพื้นที่อัยเยอร์เวง ก็ได้ส่งเสริมการทำข้าวเกรียบ และด้านการท่องเที่ยวทะเลหมอก ทำให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ทำให้ลดปัญหาความขัดแย้งลงได้ จึงอยากให้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ในเชิงนโยบาย ภายใต้โครงการนี้ต่อไปและทำต่อเนื่อง

   ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย และได้มอบนโยบายให้กับ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ว่า ต้องเน้นเรื่องการปฎิรูปอุดมศึกษาที่ทำให้เห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาทำให้คนเรียนมีอาชีพดีที่สุด ไม่สำคัญว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยประเภทใด หรือสอนในระดับไหน การทำวิจัยก็ไม่จำเป็นต้องลงลึกแบบมหาวิทยาลัยวิจัยเสมอไป แต่ควรให้ความสำคัญกับการวิจัยที่ได้ช่วยพัฒนาจังหวัดและพื้นที่ มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเป็นหน่วยพัฒนา เป็นมือเป็นไม้ให้จังหวัด หลักสูตรก็ต้องริเริ่มคิดจากผู้บริหารระดับสูง เช่น อธิการบดี รองอธิการบดี หรือสภามหาวิทยาลัย แล้วไปหารือกับสาขาวิชาเพื่อพัฒนาต่อ ผู้บริหารต้องเป็น think tank ที่สำคัญ อย่างเช่น เรื่องโรงแรมต้องทำกับระดับแนวหน้าแล้วต้องให้อาจารย์เข้าไปร่วมเพื่อได้พัฒนาตนเองด้วย หลักสูตรในยุคนี้ควรลดเวลาเรียน อย่าขังเด็กให้อยู่ในมหาวิทยาลัยนานเกินไป sandbox ก็เป็นอีกช่องทาง เพราะประเทศยังขาดแรงงาน เราอาจต้องผลิต ปริญญาตรีแค่ 3 ปี แต่ทำอย่างไรให้คงไว้ด้วยคุณภาพ ก็คือต้องปฏิบัติให้มากๆ เน้นหลักสูตรระยะสั้น non degree ให้เหมาะกับพื้นที่ ให้คนในพื้นที่ได้มีงานทำ มีกิจกรรมที่ก่อเกิดรายได้ เช่น เลี้ยงไก่เบตง เลี้ยงผึ้งชันโรง เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวด้วยว่า อยากให้มหาวิทยาลัยช่วยคิด รวมถึงเรื่องการขอตำแหน่งทางวิชาการ 5 ช่องทางใหม่ เช่น ด้านการสอน มีอาจารย์ท่านไหนสอนเก่ง สอนเป็นเลิศ ให้รีบทำ และขอฝากเรื่องวิทยสถานธัชภูมิที่ทำร่วมกับ บพท.ด้วยเพราะเป็นตัวเร่งและหนุนเสริมให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ อยากให้มหาวิทยาลัยสนใจและทำอะไรก็ให้เห็นว่าเป็นโอกาส อย่าเห็นแต่ปัญหา อย่าท้อแท้ จ.ยะลาเป็นสังคมมุสลิมที่น่าอยู่ มีอาหารอร่อย และอยู่ร่วมกันได้ในความต่างศาสนา ทำอย่างไรให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นโมเดลชุมชนมุสลิมที่ปรับตัวในโลกสมัยใหม่ได้ ซึ่งอาจต้องหาพันธมิตรมาช่วยในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่แข็งแกร่งกว่า หรือหน่วยงานในกระทรวง เช่น สวทช. วว. หรืออาจจะเป็นต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซียที่มีวัฒนธรรมมุสลิมที่เป็นแก่นของ Southeast Asia มาร่วมกันทำงาน ชวนคนที่รู้เรื่องภูมิศาสตร์ ธรรมชาติ หรืออินฟลูเอนเซอร์มาท่องเที่ยวฟรีเพื่อโปรโมทอำเภอเบตงดึงคนมาท่องเที่ยวให้มากขึ้น