09-06-2566

 “ตรีนุช”ลงพื้นที่พัทลุงติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ  

   ที่โรงเรียนพัทลุง จังหวัดพัทลุง นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของส่วนราชการการศึกษาในจังหวัดพัทลุง โดย มีนายก้องสกุล จันทราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง, นายภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการการศึกษาจังหวัดพัทลุง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และสตูน ร่วมประชุมถอดบทเรียนการดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพจังหวัดพัทลุง และ เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนพัทลุง
โดย นางสาวตรีนุช กล่าวว่า ขอขอบคุณจังหวัดพัทลุง และผู้บริหารหัวหน้าส่วนราชการการศึกษาทุกคน ที่ได้ปฏิบัติภารกิจตามบทบาทหน้าที่ และนำนโยบายของ ศธ.ไปผลักดันให้มีผลสำเร็จที่คืบหน้าตามลำดับ ซึ่งจากการรับฟังการนำเสนอผลการขับเคลื่อนการศึกษาจังหวัดพัทลุง พบว่า ทุกหน่วยงานต่างปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลัง มีผลการดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น คือ ความสอดคล้องของนโยบายทุกระดับ ตั้งแต่ระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับ สพฐ. และระดับกระทรวง ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน , มีการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบ ทั้งการพัฒนา ผู้บริหาร ครู นักเรียน, มีระบบการสนับสนุนด้านวิชาการและทรัพยากรต่างๆ อย่างเหมาะสม, มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานเพื่อเป้าหมายที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ที่พวกเรายึดถือเป็นหัวใจสำคัญ
“ เรื่องที่ต้องดำเนินการสานต่อจากนี้ คือ การสร้างโอกาสทางการศึกษา จากโครงการ พาน้องกลับมาเรียน ค้นหา ติดตามเด็กตกหล่นและออกกลางคันกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แล้วประสานเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ทั้ง สพฐ. ศึกษาธิการจังหวัด อาชีวศึกษา และ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อจัดการศึกษาที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และมีกระบวนการป้องกันการหลุดออกจากระบบ , ต้องลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนบ้านนักเรียน 100% ซึ่งทาง สพฐ.กำหนดให้ เดือนมิถุนายน 2566 เป็นเดือนแห่งการเยี่ยมบ้านนักเรียน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลช่วยเหลือเด็กในทุกๆเรื่องจากข้อมูลของนักเรียนที่ได้รับจากพ่อแม่ผู้ปกครองโดยตรง อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ในการออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม รวมถึงการส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาของความไม่ปลอดภัยร่วมกับผู้ปกครองที่ได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภัยจากยาเสพติด และเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ก็ถือเป็นภารกิจลำดับต้น โดยนําระบบมาตรฐานความปลอดภัย MOE Safety Center มาปฏิบัติอย่างเข้มข้น ตามหลัก 3 ป. ได้แก่ ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม เพื่อสร้างความปลอดภัยของนักศึกษา ครู และบุคลากร โดยเฉพาะการป้องกันเหตุร้ายจากภัยยาเสพติด และอาวุธต่างๆ เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองของผู้เรียน ให้มีความไว้วางใจในการนำผู้เรียนมาอยู่ภายใต้การดูแลของเรา ถ้าหากเกิดเหตุขึ้นในสถานศึกษา ต้องเร่งแก้ไขให้ลุล่วงอย่างรวดเร็ว รวมถึงแจ้งผลการดำเนินงานผ่านระบบ MOE Safety Center ของ ศธ. ด้วย” นางสาวตรีนุช กล่าว 

 

   รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนคุณภาพ นั้น ในมิติการบริหารการศึกษา อัตราการเกิดของประชากรมีแนวโน้มลดลง จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กมีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเชิงงบประมาณของประเทศ ที่เป็นความท้าทายในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ ทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่ง ศธ.ได้พยายามคลี่คลายปัญหาอุปสรรคการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียน 61-119 คน จำนวน 7,969 โรงเรียน ในจำนวนนี้ ไม่มีผู้อำนวยการอยู่ 1,760 โรงเรียน ศธ.ก็ได้ผลักดัน จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ให้โรงเรียนกลุ่มนี้ มีผู้อำนวยการโรงเรียนโดยเร็วที่สุดแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลยังมีการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพิ่มค่าอาหารกลางวันให้ด้วย และจากการลงพื้นที่ทั่วประเทศก็ พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ โดยใช้แนวทางโรงเรียนคุณภาพ มีการนำนักเรียนมาเรียนรวม มีการจัดแผนงานร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่จากการรับฟังรายงานในวันนี้ก็พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งในพัทลุง สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ พัฒนานักเรียนให้มีทักษะวิชาการ มีวิชาชีพ ได้รับการยอมรับและความร่วมมืออย่างดียิ่งจากชุมชม ได้รับรางวัลคุณภาพระดับประเทศ ดังนั้น ขอให้เขตพื้นที่ศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัดถอดบทเรียนวิธีการดำเนินงานของผู้บริหาร และคณะครูของโรงเรียนขนาดเล็กกลุ่มนี้ เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กอื่นๆ ต่อไป.