09-06-2566

“ตรีนุช”กำชับผู้บริหารเขตพื้นที่ฯลงโรงเรียนสม่ำเสมอร่วมสร้างรร.คุณภาพ

   วันนี้ ( 9 มิถุนายน 2566) ที่จังหวัดพัทลุง นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)พัทลุง เขต 2 ที่โรงเรียนบ้านท่านางพรหม (ธนาคารกรุงเทพ 8) อำเภอเขาชัยสน และ ที่โรงเรียนมิตรมวลชน 1 อำเภอป่าบอน โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู  นักเรียน ร่วมให้การต้อนรับและนำชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ซึ่งทั้ง 2 โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จัดการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาล 2 – ประถมศึกษาปีที่ 6

   นางสาวตรีนุช กล่าวว่า การที่ตน พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา การลงพื้นที่ทำให้ผู้บริหารได้เห็นสภาพจริงในการปฏิบัติงานของโรงเรียน ซึ่งที่โรงเรียนบ้านท่านางพรหม (ธนาคารกรุงเทพ 8) อำเภอเขาชัยสน มีนักเรียน 122 คน แม้ทางโรงเรียนมีครูไม่ครบวิชาเอกทุกกลุ่มสาระ แต่ด้วยการให้ความสำคัญในการพัฒนาครู ทำให้ทั้งครูรุ่นเก่าและครูรุ่นใหม่ มีความสามารถในการใช้สื่อเทคโนโลยีมาจัดการเรียนการสอน ครูได้รับรางวัล OBEC AWARDS รางวัลครูผู้สอนดีเด่น รางวัลครูต้นแบบบูรณาการทักษะชีวิต และนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษมีนักเรียนได้คะแนน O-NET เต็ม 100 คะแนน และโรงเรียนยังให้ความสำคัญด้านวิชาชีพ โดยกำหนดเป้าหมายนักเรียนมีอาชีพติดตัวอย่างน้อย 1 อาชีพต่อคน ผ่านกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เช่น กิจกรรมตัดผมเพื่อน้อง กิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมศิลปะ ปลูกผัก ทำผ้ามัดย้อม กิจกรรมมาสเตอร์เชฟ การจัดอาหารว่าง เป็นต้น

   รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนโรงเรียนมิตรมวลชน 1  มีนักเรียน 43 คน และด้วยจำนวนนักเรียนไม่ถึงเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด ทำให้ไม่สามารถมีตำแหน่งผู้บริหารได้ แต่ทางเขตพื้นที่ฯได้จัดให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาข้างเคียง ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียน จากศักยภาพผู้บริหารและความร่วมมืออันดียิ่งจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ชุมชน ภาคประชาสังคม และมีกระบวนการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เป็นระบบ ส่งผลให้โรงเรียนแห่งนี้ สร้างการศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กในพื้นที่ และยังสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่แก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขาบรรทัดที่เชื่อมต่อระหว่างตรัง-พัทลุง ให้สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีโลกปัจจุบันได้ด้วย
“ ดิฉันได้เน้นย้ำให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ลงพื้นที่สถานศึกษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้พบปะพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียน ครู นักเรียน ได้รับทราบปัญหาต่างๆ ในการจัดการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะ ให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาให้โรงเรียนอย่างตรงจุด ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชุมชน พื้นที่ จังหวัด และในภาพรวมของประเทศต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป ซึ่งในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก นั้น สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ โดยใช้แนวทางโรงเรียนคุณภาพ คือ มีการนำนักเรียนมาเรียนรวม มีการจัดแผนงานร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย ในการใช้ทรัพยากรใช้ร่วมกัน  มีการสร้างความพร้อมด้านอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์การศึกษา รวมถึงสนับสนุนจ้างครูภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ที่จะสร้างเสริมคุณภาพทางวิชาการ มีการสร้างทักษะอาชีพให้นักเรียน ด้วยกิจกรรมต่างๆ หลากหลาย และขอให้เขตพื้นที่ฯและโรงเรียนพิจารณาจุดแข็งของบริบทในพื้นที่และชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สามารถพัฒนาเป็น Soft Power มาบูรณาการในการเรียนการสอน ซึ่งมีหลายโรงเรียนทำได้ดี และขอให้มีการจัดเก็บข้อมูลความสำเร็จในการดำเนินงาน เพื่อนำมาใช้วัดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการยกระดับโรงเรียนคุณภาพ เพื่อขยายผลคุณภาพการศึกษาสู่นักเรียนของโรงเรียนเครือข่ายต่อไปด้วย” นางสาวตรีนุช กล่าว.