13-09-2566

สกสว. และ สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมมือหน่วยงานภาคีเครือข่าย ติดตามการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อการบริหารจัดการไฟระดับชุมชนและแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษด้ านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่ปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ พร้อมหารือแก้ปัญหาการทำกิ

   รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีหน้าที่จัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ววน. ของประเทศ รวมถึงบริหารระบบงบประมาณด้าน ววน. ผ่านการจัดสรรงบประมาณจากกองทุน ววน. ให้กับหน่วยงานในระบบทุกมิติ สำหรับปัญหาวิกฤตมลพิษฝุ่น PM2.5 สกสว. ได้เตรียมการสนับสนุนงบประมาณวิจัยผ่านแผนงาน “แก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ” ปีงบประมาณ 2566 แผนงานย่อยรายประเด็น “งานวิจัยและการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเร่งด่วนฝุ่นละออง PM2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ” โดยการมีส่วนร่วม ประสานองค์ความรู้ ร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง

   ขณะที่ การขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่ปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานภาคี นั้น ทาง สกสว. พร้อมให้การสนับสนุนข้อมูลด้านวิจัยและนวัตกรรม ที่ได้มีการออกแบบโดยการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์สังเคราะห์งานวิจัยเชิงพื้นที่มาปรับการทำงานให้ตรงกลุ่มเ ป้าหมายในพื้นที่ปฏิบัติการเป้าหมาย ผ่าน 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1) ภาคเกษตร 2) ภาคป่าไม้ 3) ภาคคมนาคม 4) ฝุ่นควันข้ามแดน และ 5) ระบบข้อมูล เพื่อเสริมข้อมูลทางวิชาการใช้ในการวิเคราะห์ให้เกิดการดำเนินงานร่วมกันได้ตรงเป้าหมายและมีความยั่งยืน

   ด้าน ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม กล่าวถึงการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่าย ที่ได้มีการดำเนินงานใน 2 พื้นที่ คือ 1) อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เน้นเรื่องการจัดการไฟป่า และ 2) อำเภอแม่แจ่ม เน้นเรื่องการจัดการไฟป่าและไฟในพื้นที่เกษตร ภายใต้แนวคิดให้ชุมชนเป็นแกนหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนประสานหน่วยงานในระดับกลาง ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นแกนหนุนเสริม ซึ่งจะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นฤดูกาล แต่เป็นการออกแบบบริหารจัดการให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเตรียมขยายผลไปสู่จังหวัดอื่น ๆ

   ขณะที่ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จ.เชียงใหม่ มีการวางแผนบูรณาการของหน่วยงานภายในจังหวัด โดยในปีนี้จะดำเนินการด้านการบริหารจัดการเชื้อเพลิง บริหารจัดการไฟที่จำเป็น เพื่อลดจุด Hotspot ในแต่ละพื้นที่ ไม่ให้เกิดการลุกลามเข้าไปในป่าที่จะส่งผลให้ควบคุมได้ยาก นับเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อว่าจะดำเนินการแก้ไขอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน สำหรับ จ.เชียงใหม่ ถือเป็นพื้นที่ได้เปรียบในการใช้ชีวมวลในการทำมูลค่าเพิ่ม ที่กำลังเป็นกระแสนิยมของโลกและยังเป็นการลดการเผาในภาคการเกษตร การร่วมมือขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่ปฎิบัติการนวัตกรรมภาครัฐครั้งนี้ จะเข้ามาช่วยสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการและการจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เป็นอย่างมาก

   ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ คือ 1) การทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับภารกิจ การดำเนินงานในสองพื้นที่ปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ 2) แนวทางทำงานร่วมกันตามรูปแบบภาคีการพัฒนาร่วมสามฝ่าย รัฐ-ชุมชน-เอกชน และ 3)
กิจกรรมการดำเนินงานที่ภาคเอกชนสามารถร่วมสนับสนุนดำเนินการ เพื่อการป้องกันจัดการปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เพราะปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่ากำลังของภาครัฐฝ่ายเดียว ซึ่งผลกระทบจากฝุ่นพิษมีผลต่อทุกภาคส่วนและมีต้นทุนมากขึ้นทุกปี ขณะที่การป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 นั้น ต้องใช้เครื่องมือหลายประเภท ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ สังคม รวมทั้งนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้มีการวางแนวทางการขับเคลื่อน 8 แนวทางหลักสำคัญ ที่สามารถดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน และแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและเครือข่าย 2) การจัดการไฟในพื้นที่ป่า 3) การจัดการไฟพื้นที่เกษตร 4) การจัดการไฟพื้นที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล 5) การพัฒนาระบบการติดตาม 6) การกำหนดตัวชี้วัด 7) การสร้างกลไกการบริหารจัดการ และ 8) การพัฒนาชุดความรู้และงานวิชาการเกี่ยวกับการจัดการไฟ ไร่หมุนเวียน และการสื่อสารสาธารณะ