17-11-2566

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผนึก สมาคมทีคอส (TCOS) ติดปีกอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ด้วยแพลตฟอร์ม FoodSERP (ฟู้ดเสิร์ฟ) บริการแบบครบวงจร ด้วยผลงานวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีตามหลักมาตรฐานสากล

   ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า FoodSERP แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน เป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ สวทช. ในการผลักดันการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของทรัพยากรชีวภาพในประเทศ ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรหลายภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชันและเวชสำอาง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและมีมาตรฐานการผลิต สวทช. มีโครงสร้างพื้นฐานโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค สำหรับผลิต functional ingredients หรือ active ingredients และโรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง สำหรับผลิตเวชสำอางที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์นอกจากนี้ สวทช. ยังมีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยที่จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีกระบวนการทางชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี ในรูปแบบ One-stop service ตั้งแต่การผลิต วิเคราะห์ทดสอบ สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์สำหรับทดสอบตลาด บริการขยายขนาดการผลิต และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG และ Speedy Economy ให้มีศักยภาพการผลิตที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในมิติต่างๆ ตลอดห่วงโซ่การผลิต เจตนารมณ์ของความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ให้เป็นรูปธรรม ยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เวชสำอางของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก ผนึกกำลังร่วมกันผ่านเครือข่ายพันธมิตรในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ที่จะช่วยสร้างผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ

   ด้าน นางลักษณ์สุภา ประภาวัต นายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย หรือ TCOS (Thai Cosmetic Cluster) กล่าวว่า ความร่วมมือกับองค์กรวิจัยระดับชาติ อย่าง สวทช. เป็นอีกมิติที่สำคัญของสมาคมฯ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การแบ่งปันข้อมูล การเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยและทรัพยากร การร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมการผลิต รวมทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายตลอดทั้งห่วงโซ่อุปสงค์อุปทาน ซึ่งการที่สมาคมฯ และ สวทช. ได้ร่วมลงนามมือกันในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้สามารถแข่งขันและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบเครื่องสำอางไทยไปสู่ระดับโลกได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ด้วยความร่วมมือและให้บริการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงเป้าหมายในการสร้างความเป็นเลิศในด้านนวัตกรรม คุณภาพ และความปลอดภัยของเครื่องสำอางไทย นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยยังเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรชีวภาพของไทย อาทิเช่น สมุนไพร วัตถุดิบทางการเกษตรและจุลินทรีย์ ผนวกกับการใช้องค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทยที่เป็น soft power อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใครในเวทีโลก และยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย แม้เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตและมีอนาคตที่สดใสในตลาดโลก แต่ในเวลาเดียวกันต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข 3 ด้านหลัก ๆ คือ
1.การแข่งขันกับผู้ผลิตเครื่องสำอางต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีและการตลาดที่ดีกว่า
2.การปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกำหนดของตลาดเป้าหมายที่แตกต่างกัน และ
3.การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการและความชอบของผู้บริโภคและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็น มิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งสมาคมฯ

   เชื่อว่าในอนาคตอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ เช่น การใช้ประโยชน์จาก Big Data และ AI ในการวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค การประยุกต์ใช้ไบโอเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย และการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ