21-11-2566

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเวทีหารือแนวทางการสนับสนุนงานวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศตั้งเป้าลดพึ่งพิงการนำเข้า มุ่งสร้างศักยภาพและพัฒนาเทคโนโลยีได้เองภายในปี พ.ศ. 2570

   ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. กล่าวว่า กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กองทุน ววน. ที่บริหารจัดการโดย สกสว. มีการสนับสนุนทุนวิจัยทางด้านเทคโนโลยีอวกาศมาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อมุ่งให้เกิดการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนและลดความซ้ำซ้อนในการให้ทุนวิจัย ซึ่งการหารือในครั้งนี้ มุ่งเน้นประเด็นการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ โดยการจัดสรรงบประมาณที่มีทั้งรูปแบบการสนับสนุนหน่วยงานที่มีภารกิจพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งการพัฒนาทักษะกำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อตอบพันธกิจของหน่วยงาน และรูปแบบการจัดสรรงบประมาณเชิงกลยุทธ์ที่เน้นการสนับสนุนในแผนงานที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมและบริการในอนาคต ซึ่ง สกสว.
ได้จัดสรรทุนวิจัยให้กับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำหรับโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium: TSC) ซึ่งเป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่พยายามสร้างต้นแบบชิ้นส่วนดาวเทียมขึ้นมาเองในประเทศ โดยตั้งเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2570 จะสามารถผลิต 20 ต้นแบบชิ้นส่วนย่อยของระบบดาวเทียมได้ สามารถใช้ระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศจากดาวเทียมแก้ปัญหาด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อมได้จำนวนไม่น้อยกว่า 1 แสนไร่ พร้อมทั้งพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กำลังคนในประเทศ พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรสำคัญต่าง ๆ ให้ประเทศไทยมีความพร้อมด้านงานวิจัยทางเทคโนโลยีอวกาศเพิ่มมากขึ้น

   ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ กล่าวด้วยว่า ในอนาคตการใช้เทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมจะมีความจำเป็นมากขึ้น ทั้งในด้านการสื่อสารในยุคหลัง 5G การใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ดิน ป่าไม้และทรัพยากรต่างๆ รวมถึงการป้องกันภัยคุกคามทางอวกาศที่อาจเกิดขึ้นได้ อาทิ อุกกาบาต ดาวนอกโลก พายุสุริยะ ขยะอวกาศ ที่อาจเป็นภัยต่อการอยู่อาศัยบนโลก จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนางานวิจัยในด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยในระยะแรกของแผนด้าน ววน. ได้มุ่งสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของกำลังคน ความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐาน และความเข้มแข็งของเทคโนโลยี ที่จะสามารถทำให้อุตสาหกรรมเกิดขึ้น รวมถึงนักลงทุนต่าง ๆ ให้ความสนใจสร้าง Space Economy ให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
โดยยอมรับว่าในปัจจุบันเรายังเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยี แต่เป้าหมายในอนาคตอันใกล้นี้เราจะสามารถสร้างเทคโนโลยีได้เอง ในการเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่รัฐบาลได้มีการลงทุนให้กับโครงการ THEOS 2
ที่นักวิจัยในประเทศไทยและภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลจากดาวเทียมไปใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาดาวเทียม โดยมีสถานที่ประกอบและทดสอบ รวมถึงนักวิจัยและนักพัฒนาในไทยที่มีความสนใจพัฒนาต้นแบบชิ้นส่วนดาวเทียมและ software การใช้ประโยชน์ ดังนั้นภาครัฐควรให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างรากฐานให้กับระบบนิเวศ เศรษฐกิจอวกาศ เพราะโครงการด้านเทคโนโลยีอวกาศไม่สามารถแล้วเสร็จในระยะเวลาอันสั้น หากทุนวิจัยมีความต่อเนื่อง เชื่อแน่ว่าเทคโนโลยีอวกาศของไทยจะสามารถก้าวหน้าในอนาคตอันใกล้ได้อย่างแน่นอน