นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมส่งเสริม Soft Power เบิกฟ้าอโยธยา ย้อนเวลาไปกับ พรหมลิขิต โดยมีนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นางอรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละคร นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักกิจการและสื่อสารองค์กร บริษัท บีอีซีเวิลด์จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ดารานักแสดงจากละครพรหมลิขิต ประกอบด้วย พีพี-ปุญญ์ปรีดี คุ้มพร้อม โอม-คณิน สแตนลีย์ ปีเตอร์แพน-ทัศน์พล วิวิธวรรธน์ รอน-ภัทรภณ โตอุ่น เครือข่ายทางวัฒนธรรม แขกผู้มีเกียรติ ประชาชนที่สนใจ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ อาคารเครื่องทองอยุธยสพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมนำทัพนักแสดงและผู้จัด เยี่ยมชมบรรยากาศวัดไชยวัฒนารามยามราตรี ชมการบรรเลงและขับร้องดนตรีไทยสากล ของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ชมการบรรเลงดนตรีไทยและการแสดงทางวัฒนธรรม และชมการออกร้านสาธิตอาหารไทยโบราณและผ้าลายอย่าง อีกด้วย
สำหรับบรรยากาศภายในงานมีกิจกรรม การเสวนาการส่งเสริม Soft Power ผ่านละคร “พรหมลิขิต” มีผู้ร่วมเสวนาฯ ประกอบด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ นางอรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละคร นางสาวสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักศิลปากร ที่ 3 พระนครศรีอยุธยา การเสวนาดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อเป็นการร่วมกันถอดบทเรียนที่สำคัญจากการผลิตและนำเสนอละคร พรหมลิขิต เพื่อที่จะนำมาปรับใช้เป็นแนวทางส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมไทยออกสู่ระดับสากล เพื่อสร้างการรับรู้ และเพิ่มการท่องเที่ยว อันจะส่งผลต่อการสร้างรายได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสู่ชุมชนทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง หรือ FILM อันได้แก่ละครโทรทัศน์ ซีรีส์ ภาพยนตร์ ฯลฯ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างความสำเร็จในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยการเสวนามีการกล่าวถึงประเด็นแนวทางการส่งเสริมจากภาครัฐ เพื่อให้สื่อบันเทิงอย่างละครสามารถผลิตผลงานสู่สากลได้มากขึ้น การทำงานและเบื้องหลังความสำเร็จของผู้ประกอบการและผู้จัดละครที่จะต้องผลิตคอนเทนต์ที่ทั้งต้องสนุกจนได้รับความนิยม และในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถที่จะเผยแพร่เรื่องราวความเป็นเอกลักษณ์ของไทยไปด้วย ให้กลายเป็นพลังละมุนที่จะทำให้ชาวต่างชาติเกิดความสนใจในประเทศไทยและต่อยอดให้เกิดรายได้แก่ประเทศต่อไป
“พรหมลิขิต” เป็นภาคต่อของละครรักโรแมนติกอิงประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส” นำแสดงโดย โป๊ป ธนวรรธน์ และ เบลล่า ราณี โดยผู้จัดฯ หน่อง อรุโณชา ภาณุพันธุ์ กำกับการแสดงโดย สรัสวดี วงศ์สมเพ็ชร์ โดยออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2566 เป็นตอนแรก โดย พรหมลิขิต ถือเป็นปรากฎการณ์ที่เป็นมากกว่าละคร เพราะได้รับความนิยมที่สูงตั้งแต่ตอนแรก และมีเรื่องราวเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของความเป็นไทยสอดแทรกไปกับการดำเนินเรื่องของละคร ทำให้ผู้ชมได้ติดตามเรื่องราวที่สนุกสนานพร้อมกับความรู้สึกผูกพันกับความเป็นไทยอย่างไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องแต่งกายไทยสมัยอยุธยา อาหารไทย โบราณสถาน และที่สำคัญยังทำให้ผู้ชมเกิดความสนใจในประวัติศาสตร์ช่วงปลายอยุธยา ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าการท่องเที่ยวในสถานที่ที่เกี่ยวกับละครได้รับความนิยมทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่ละครเริ่มออกอากาศ โดยเฉพาะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นต้นเรื่องของละคร นอกจากนี้ละครพรหมลิขิตยังมีการจำหน่ายลิขสิทธิ์เพื่อไปออกอากาศและสตรีมในแพลตฟอร์มของต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีของการใช้คอนเทนต์และความบันเทิงเป็นเครื่องมือผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล อันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงวัฒนธรรม
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยถึงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ว่า “ประเทศไทยมีมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อสร้างเป็นมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญและโดดเด่นกว่าประเทศใด โดยจากกระแสของละคร พรหมลิขิต ที่ได้ออกอากาศทั้งในประเทศและสตรีมไปในหลายประเทศ ได้มีการเผยแพร่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้ผู้ชมได้เห็นและซึมซับความรู้สึกดี ๆ สามารถกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศกลับมาเที่ยวแหล่งโบราณสถานของไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยถือเป็นการต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ของไทยที่น่าจับตามองเพราะสามารถที่จะสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับประเทศไทย เป็นการเพิ่มมูลค่าของโบราณสถานที่มีอยู่ เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นก็เกิดรายได้ให้กับชุมชนอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ทางกระทรวงวัฒนธรรมเองก็มีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ที่ชัดเจนอยู่แล้ว คือ “วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ” นำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมยั่งยืน โดยการจัดงานในครั้งนี้ มีกิจกรรมอื่นๆ ประกอบด้วย การจัดเสวนาการส่งเสริม SOFT POWER ผ่านละคร “พรหมลิขิต” การแสดงและกิจกรรมทางวัฒนธรรม การแต่งกายชุดไทยเข้าชมโบราณสถานยามค่ำคืน และกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น เช่น ศิลปะ ดนตรี และออกแบบแฟชั่น อีกด้วย โดยในเบื้องต้นกรมศิลปากรจะดำเนินกิจกรรมนี้ในทุกวันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์และเทศกาลสำคัญเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ซึ่งหากได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวก็จะมีการขยายเวลาของกิจกรรมนี้ต่อไป และคาดหวังว่ากิจกรรมนี้จะเป็นจุดหมายที่สำคัญแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างแน่นอน
ด้านนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “กระทรวงวัฒนธรรมได้มีแนวทางการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน ผลักดันสินค้าทางวัฒนธรรมสู่ตลาดโลก ใช้สื่อบันเทิงเป็นเครื่องมือเผยแพร่ภาพลักษณ์สินค้าและบริการ รวมไปถึงผลิตคอนเทนต์คุณธรรมและเผยแพร่ทุกช่องทาง เช่น มิวสิควิดีโอและคอนเสิร์ตธงชัย แมคอินไตย สินค้าและบริการที่มีศักยภาพ 5f ได้แก่ Food (อาหาร) , Fashion (ออกแบบแฟชั่น) , Film (ภาพยนตร์), Festival (เทศกาลประเพณี) , Fighting (กีฬา) และ 5f Plus ได้แก่ ท่องเที่ยวชุมชน ศิลปะการแสดง ศิลปะ และต่อยอดไปสู่ 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ Film (ภาพยนตร์ ซีรี่ย์ แอนิเมชั่น) , Food (อาหาร) , Fashion & Craft Design (แฟชั่นและงานคราฟท์), Sports (กีฬา) , Music (ดนตรี เพลง) , Tourism (ท่องเที่ยว) ,Publishing (หนังสือ), Art (ศิลปะและศิลปะการแสดง) , Design (ออกแบบ) , Game and Software (เกมและซอฟต์แวร์) และ Festival (เฟสติวัลระดับโลกและเทศกาลประเพณี) สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิง ได้แก่ 1.พัฒนาบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพ 2.ส่งเสริมช่องทางการตลาดและการเจรจาธุรกิจ 3.ส่งเสริมการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา 4.ส่งเสริมความร่วมมือในการร่วมลงทุนระหว่างประเทศ และการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยและ 5. การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหนึ่งในโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่จะช่วยขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ คือ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์งานในรูปแบบของภาพยนตร์ ละคร แอนิเมชันที่สอดแทรกเนื้อหาด้านวัฒนธรรมหรือส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งละคร พรหมลิขิต ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตแล้วยังสร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชน ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย”
ทางด้าน นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักกิจการและสื่อสารองค์กร บริษัท บีอีซีเวิล์ด จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ละครพรหมลิขิต ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงตั้งแต่ก่อนออกอากาศและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เริ่มออกอากาศ โดยความนิยมนั้น นอกจากความสนุกสนานของละครแล้ว ละครยังสร้างกระแสความภาคภูมิใจให้กับคนไทยและสร้างความตื่นตาตื่นใจในกลุ่มผู้ชมต่างชาติ ในเรื่องเอกลักษณ์ความเป็นไทยในหลายด้าน ตั้งแต่การแต่งชุดไทย อาหาร และโบราณสถานที่อยู่ในละคร รวมถึงความรู้ประวัติศาสตร์ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่มีการจัดงานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางสำหรับการผลักดันอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง ให้เป็นหนึ่งในแกนหลักในการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรมไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป”
นอกจากนี้ผู้ร่วมเสวนา ผู้จัด นักแสดง ยังได้ร่วมยลโฉมความงามของโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามยามค่ำคืน ที่ได้รับการประดับไฟอย่างสวยงาม และนักแสดง พรหมลิขิต ยังได้ร่วมถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงานอีกด้วย