นายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำโครงสร้างใหม่ของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ว่า ขณะนี้ได้ข้อยุติแล้วว่าหน่วยงานภายใน สกร. ในส่วนกลาง มี 12 กอง ประกอบด้วย 1.กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร 2.กลุ่มตรวจสอบภายใน 3.กลุ่มกฎหมายและนิติการ 4.สำนักงานเลขานุการกรม 5.กองบริหารการคลัง 6.กองบริหารทรัพยากรบุคคล 7.กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ 8.กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง 9.กองยุทธศาสตร์และแผนงาน 10.กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 11.กองมาตรฐานความรู้และรับรองวุฒิ และ 12.ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนรู้ และ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ รักษาราชการแทนอธิบดี สกร. กล่าวต่อไปว่า สำหรับระดับพื้นที่จะมีหน่วยงานการศึกษา/สถานศึกษา กระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัด สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาค สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร สถาบันการศึกษาทางไกล และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายพิเศษ โดยภายใต้สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัด จะมีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอ ศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจการ ศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล และศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ โดยมีการกำหนดกรอบอัตรากำลังของ สกร.ทั้งหมด ดังนี้ เป็นข้าราชการ 4,980 อัตรา พนักงานราชการ 15,139 อัตรา และ ลูกจ้างประจำ 248 อัตรา ซึ่งโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ และการกำหนดกรอบอัตรากำลังใหม่นี้จะแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายนนี้
นายธนากร กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันก็เร่งดำเนินการในส่วนของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามความใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 และได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง เช่น การกำหนดสถานที่ตั้งของสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร /ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอและเขต (กทม.) / ศูนย์การเรียนรู้ตำบลและแขวง (กทม.) การกำหนดอำนาจหน้าที่ของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” การประกาศให้จัดตั้งศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจการ ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานศึกษาไปแล้วจำนวน 39 แห่ง และการกำหนดให้หน่วยจัดการเรียนรู้มีอำนาจในการรับรองคุณวุฒิให้แก่ผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยมีการออกเป็นประกาศนียบัตร หรือ วุฒิบัตร หรือ หนังสือรับรองความรู้ เพื่อนำไปสะสมในการได้รับการรับรองคุณวุฒิ
“ สกร.เป็นกรมใหม่ เราต้องเร่งทำงานอย่างรอบด้านในทุกมิติ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนงานได้ ซึ่ง สกร.ได้นำนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มาปฏิบัติ เช่น ลดภาระงานครู แก้ไขปัญหาหนี้สิน ให้นักเรียน นักศึกษาเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยมี 2 นโยบายของ รมว.ศธ. ที่ สกร.ต้องเร่งทำให้เร็วในปี 2567 นี้ คือ การจัดการศึกษาเพื่อเด็กอัจฉริยะ และการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ สกร.ในทุกมิติ โดยในส่วนของการจัดการศึกษาเพื่อเด็กอัจฉริยะ สกร.กำลังดำเนินการพัฒนาหลักสูตรสอบเทียบ เพื่อรองรับเด็กกลุ่มนี้ และเพื่อให้การศึกษาขั้นพื้นฐานมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ สกร.จึงได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และสำนักงานคณะการรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการจัดทำหลักสูตรมาตรฐานของชาติมาจัดสอบ และมอบสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ออกข้อสอบ นอกจากนี้ผมจะได้หารือกับมหาวิทยาลัย ให้ช่วยจัดทำหลักสูตรนักส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้ครูและบุคลากรเข้ารับการอบรม โดยเรียนที่มหาวิทยาลัยเพียง 1-2 วัน และศึกษาทำงานในพื้นที่ให้มาก 3-6 เดือน จบแล้วได้รับหน่วยกิตไปสอบเทียบระดับปริญญาโทได้ เพื่อเตรียมบุคลากรได้ปรับตัวและพร้อมปฏิบัติงานใหม่ๆ ตามภารกิจใน กฎหมายและโครงสร้างใหม่ของ สกร.ซึ่งผมมองว่างานของ สกร. คือ แผนที่เพิ่มโอกาสคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย” นายธนากร กล่าว.