19-03-2567

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชื่นชมโรงเรียนอนุบาลเชียงราย สามารถจัดการศึกษาได้อย่าง "เรียนดี มีความสุข"

      พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ณ โรงเรียนอนุบาลเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. และนางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลเชียงราย คณะครูและนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ

   พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า จากการมาเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนอนุบาลเชียงราย พบว่าสามารถจัดการเรียนการสอนได้ดี ซึ่งมาจากความร่วมมือร่วมใจกันของหลายฝ่าย ทั้งผู้บริหารโรงเรียน คุณครู สมาคมผู้ปกครองที่เข้มแข็ง ที่สำคัญคือนักเรียนโรงเรียนนี้มีความน่ารัก ตั้งใจเรียน ตั้งใจแสวงหาความรู้และกล้าแสดงออก สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปก็คือการขับเคลื่อนให้โรงเรียนอื่นๆ มีมาตรฐานการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน ในส่วนนี้เราก็มีนโยบาย "1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ" ซึ่งทั่วประเทศตอนนี้มีอยู่ประมาณ 1,800 กว่าโรงเรียน เราก็จะยกระดับคุณภาพให้ตามเกณฑ์มาตรฐานให้ได้ทั้งหมด โดยในกระบวนการทำก็จะมีหลายมิติ เช่น อาจจะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างที่เราทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ อบจ.นนทบุรี เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยโรงเรียนคุณภาพจะเป็นโรงเรียนแม่ข่ายที่จะให้บริการหรือสนับสนุนโรงเรียนในเครือข่ายในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน อาทิ คุณครู อุปกรณ์ สื่อการสอน เครื่องดนตรี ฯลฯ และเป็นโรงเรียนพี่เลี้ยงที่จะช่วยแนะนำในด้านต่างๆ ให้กับโรงเรียนในเครือข่ายได้ อีกมิติคือร่วมกับโครงการ Connext ED โดยให้ สพฐ. แจ้งโรงเรียนในสังกัดให้สำรวจว่ามีอะไรขาดเหลือตรงไหนบ้าง หากเป็นโรงเรียนที่อยู่ในโครงการ Connext ED ก็จะเข้าไปเติมเต็มให้พร้อมเป็นโรงเรียนคุณภาพต่อไป นอกจากนั้น ก็จะมีการสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มเพื่อดูว่าโรงเรียนไหนที่ยังขาดแคลน เราก็จะหาผู้สนับสนุนเข้ามาช่วยเสริมเพิ่มเติมในส่วนที่นอกเหนือจากงบประมาณของรัฐบาลด้วย 

"ในการยกระดับพัฒนาการศึกษานี้ เราจะเห็นผลในระยะยาวมากกว่า อย่างที่ตนกำลังทำอยู่ในขณะนี้ กว่าจะเห็นผลก็อาจจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ตั้งแต่ประถมไปจนถึงมัธยม หรืออาจจะนานกว่านั้น อย่างเช่นเรื่องของผลประเมิน PISA เราก็ต้องวางแผนพัฒนาเด็กตั้งแต่ชั้นประถม 1 เลย กว่าจะเห็นผลก็ใช้เวลาถึง 9 ปี แต่เราก็ต้องทำไปตามขั้นตอน โดยสร้างคุณภาพให้เด็กตั้งแต่พื้นฐาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ทั้งนี้ในระยะเร่งด่วนหากมีอะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อยกระดับคุณภาพเด็กไทย ก็ต้องยึดหลัก "ทำดี ทำได้ ทำทันที" และ "จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน" เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติได้จริง เกิดประโยชน์กับเด็กไทยทุกคน" รมว.ศธ. กล่าว

   ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการขับเคลื่อนตามนโยบายของ รมว.ศธ. แล้ว สพฐ. มีความห่วงใยถึงความปลอดภัยของนักเรียนในช่วงระหว่างปิดภาคเรียนเดือนเมษายนและพฤษภาคม โดยเฉพาะเหตุจมน้ำ ซึ่งทาง สพฐ. ได้มีข้อสั่งการให้สถานศึกษาทุกแห่งกำชับให้นักเรียนระมัดระวังเรื่องการออกไปเล่นตามแหล่งน้ำในชุมชน เนื่องจากสถิติในช่วงปิดภาคเรียนจากกระทรวงสาธารณสุข มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเกือบทุกปี ซึ่ง สพฐ.ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกต่อไป โดยเราจะต้องลดการสูญเสียเหล่านี้ให้ได้ ดังนั้น ขอให้สถานศึกษากวดขันและกำชับเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนอย่างเคร่งครัดด้วย โดยในส่วนของการป้องกันการจมน้ำเสียชีวิตของนักเรียนในช่วงปิดภาคเรียนนั้น สถานศึกษาส่วนใหญ่ก็มีการสอนทักษะการว่ายน้ำให้แก่นักเรียนแล้ว แต่ก็ยังมีกลุ่มเด็กอีกส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีทักษะการว่ายน้ำเท่าที่ควร สพฐ. ขอให้ทางโรงเรียนให้ความรู้เรื่องเทคนิคการเอาตัวรอดจากการจมน้ำให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนได้รับทราบข้อมูล และขอให้ผู้ปกครองรวมถึงชุมชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดด้วย เพื่อลดความสูญเสียไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป